นักโบราณคดีถกกันวุ่น บรรพชนมนุษย์มีกี่สปีชีส์?
นักโบราณคดีถกกันวุ่น บรรพชนมนุษย์มีกี่สปีชีส์?
ทีมนักโบราณคดี นำโดย มีฟ ลีคีย์ นักบรรพชีวินวิทยาจากสถาบัน ทูร์คานา เบซิน ในกรุงไนโรบี ประเทศเคนยา และ เฟรด สปูร์ จากสถาบันมักซ์พลังค์ ในนครไลป์ซิก ประเทศเยอรมนี เผยแพร่รายงานการค้นพบซากฟอสซิลใหม่ของมนุษย์ยุคโบราณ อายุระหว่าง 1.78 ล้านปี ถึง 1.95 ล้านปีก่อน ซึ่งเชื่อว่าเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่ารากเหง้าของสายพันธุ์มนุษย์ไม่ได้มีเพียง "โฮโม อีเรคตัส" สปีชีส์ที่เป็นสายตรงของมนุษย์ในปัจจุบันนี้ แต่มีมากกว่า 1 สปีชีส์ ที่อาจใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในบริเวณที่เป็นภาคตะวันออกของทวีปแอฟริกาในปัจจุบันนี้
ฟอสซิลที่ค้นพบใหม่ดังกล่าวประกอบด้วย ขากรรไกรด้านบนพร้อมฟันกราม, ขากรรไกรด้านล่างที่เกือบสมบูรณ์ กับบางส่วนของขากรรไกร ชิ้นส่วนของฟอสซิลเหล่านี้ค้นพบระหว่างปี 2550-2552 ในบริเวณที่เรียกว่า คูบี ฟอรา ใกล้กับทะเลสาบทูร์คานา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยฟอสซิล และอยู่ห่างจากจุดที่เคยค้นพบฟอสซิลกระดูกบางส่วนของกะโหลกมนุษย์ที่เป็นที่ถกเถียงกันอย่างหนักก่อนหน้านี้เมื่อปี 2515
กะโหลกของมนุษย์ที่ค้นพบเมื่อปี 2515 ซึ่งถูกเรียกตามชื่อรหัสฟอสซิลว่า เคเอ็นเอ็ม-อีอาร์ 1470 นั้น เป็นที่ถกเถียงกันอย่างหนัก เพราะมีคุณลักษณะบางอย่างแตกต่างออกไปจาก ฟอสซิล โฮโม อี
เรคตัส ที่ขุดพบที่แหล่งขุดค้น ดีมานิซี ในสาธารณรัฐจอร์เจียปัจจุบัน ที่มีอายุ 1.76 ล้านปี ความต่างอย่างสำคัญก็คือ 1470 มีลักษณะของใบหน้าแบนราบกว่าและไม่มีขากรรไกรยื่นออกมาเหมือนกับ ฟอสซิล โฮโม อีเรคตัส ที่ค้นพบและตรวจสอบอายุแล้วว่าอยู่ในยุคสมัยเดียวกัน ทำให้ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา แวดวงโบราณคดีและบรรพชีวินวิทยาต่างถกเถียงกันมากว่า 1470 นั้นเกิดจากการผ่าเหล่าของโฮโม อีเรคตัส หรือเป็นอีกสปีชีส์แยกต่างหากกันแน่
การค้นพบฟอสซิลขากรรไกรใหม่นี้ ทีมที่ค้นพบเชื่อว่าเป็นหลักฐานแสดงว่า 1470 นั้นเป็นอีกสปีชีส์แยกต่างหากจาก ดีมานิซี หรือ โฮโม อีเรคตัส ทั่วไป เพราะลักษณะของกระดูกที่พบ เข้ากันไม่ได้กับโฮโม อีเรคตัส แต่กลับสอดคล้องกันอย่างเหมาะเจาะกับชิ้นส่วนกะโหลก 1470 ที่ค้นพบในพื้นที่ใกล้เคียงกันก่อนหน้านี้
นอกจากนั้น ทีมวิจัยที่ค้นพบซากฟอสซิลใหม่นี้ ยังระบุด้วยว่า จากการศึกษาพบว่า ก่อนหน้านี้มีการค้นพบซากฟอสซิลโครงกระดูกมนุษย์อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่เข้ากันกับฟอสซิลโครงกระดูกของ โฮโม อีเรคตัส หรือ 1470 ดังนั้น มีความเป็นไปได้ที่ว่า มนุษย์ในยุคแรกเริ่มวิวัฒนาการนั้น มีอยู่ด้วยกันอย่างน้อย 3 สปีชีส์ คือ โฮโม อีเรคตัส, กลุ่มเดียวกับ 1470 และกลุ่มที่ไม่ใช่ทั้ง โฮโม อีเรคตัส และ 1470
ซูซาน แอนตัน นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ที่ร่วมเขียนรายงานชิ้นนี้ ระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่ซากฟอสซิลในรายงานการค้นพบครั้งนี้จะอยู่ในกลุ่มเดียวกับ เคเอ็นเอ็ม-อีอาร์ 1470 หรือกลุ่มสปีชีส์ที่เรียกว่า "โฮโม รูโดลเฟนซิส" ส่วนอีกกลุ่มที่ไม่ใช่ทั้ง โฮโม อีเรคตัสและ 1470 นั้นก็น่าจะเป็นสปีชีส์ "โฮโม ฮาบิลิส"
ข้อสรุปดังกล่าวของทีมขุดค้นทางโบราณคดีที่พบฟอสซิลใหม่นี้ ก่อให้เกิดการถกเถียงครั้งใหม่ขึ้นมาอีก เพราะมีนักบรรพชีวินวิทยาอีกหลายรายที่ไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปนี้ อาทิ ศ.มิลฟอร์ด วอลพอฟฟ์ ศาสตราจารย์โบราณคดีจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ที่เชื่อว่าทีมค้นพบด่วนสรุปเร็วเกินไป จากหลักฐานน้อยเกินไป ในขณะที่นักวิวัฒนาการด้านชีววิทยาอย่าง จิม ไวท์ แห่งมหาวิทยาลัย แคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดดังกล่าว
โดยเชื่อว่าสิ่งที่ทีมขุดค้นพบใหม่นี้ เป็นเพียงชิ้นส่วนของ โฮโม อีเรคตัส ที่เป็นเพศเมีย ที่มีขนาดเล็กกว่าทั่วไป แต่ก็ยังเป็นสปีชีส์เดียวกันอยู่นั่นเอง