โรคที่เกิดในฤดูฝน

โรคที่เกิดในฤดูฝน


สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและมักมีฝนตกหนักติดต่อกันเป็นช่วงๆ ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลันได้

 
การเปลี่ยนแปลงของสภาพดินฟ้าอากาศ เป็นสาเหตุให้เกิดโรคหลายชนิด ซึ่งสามารถระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว โรคที่ติดต่อทางน้ำและอาหาร

โดยเฉพาะช่วงที่มีน้ำท่วม
ได้แก่ โรคท้องเดินหรือโรคอุจจาระร่วง โรคบิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ ตับอักเสบ เป็นต้น

สาเหตุ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค รวมทั้งเกิดจากการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ นอกจากนี้ยังมีโรคบางอย่างที่พบมากเป็นพิเศษในช่วงฤดูฝน ได้แก่ โรคอาหารเป็นพิษจากเห็ดพิษ กรมควบคุมโรค พบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการรับประทานเห็ดพิษทุกปี ดังนั้นระวังอย่ารับประทานเห็ดที่สงสัยไม่รู้จักและไม่แน่ใจอาการ

ที่สำคัญได้แก่ อาเจียน ปวดท้อง อุจจาระร่วง พิษเห็ดบางชนิดที่รุนแรงอาจทำให้เกิดตับวาย ตัวเหลือง ไตวาย และเสียชีวิต

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ

โรคที่พบบ่อย
ได้แก่ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบหรือปอดบวม

สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ที่มีมากมายหลายชนิดในอากาศ สามารถติดต่อกันได้ง่ายจากการไอ จาม หรือมือที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ วิธีป้องกันการแพร่กระจายโรคไปสู่บุคคลอื่นทำได้โดย เวลาไอจาม ควรใช้ผ้าปิดปากและจมูก หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชน และควรล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ

ดังนั้นพ่อแม่หรือผู้ดูแลเด็กต้องสังเกตอาการ

หากมีไข้ไอ หายใจเร็ว หรือ หอบเหนื่อย ให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที

โรคที่เกิดจากแมลงและสัตว์พาหะต่างๆ เช่น

โรคไข้เลือดออก

มียุงลายเป็นพาหะนำโรค จะมีอาการไข้สูงลอย ติดต่อกัน 2-7 วัน หน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดเป้าตา บางรายมี ปวดท้อง อาเจียน เบื่ออาหาร มีจุดแดงเล็กๆ ตาม แขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาไหลและเลือดออกตามไรฟัน บางรายมีอาการปวดท้องกะทันหัน อาจมีเลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้ถ่ายเป็นเลือด ปัสสาวะน้อยลง ไม่ค่อยรู้สึกตัวต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน โรคนี้เป็นได้ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ

โรคไข้มาลาเรีย เกิดจากเชื้อโปรโตซัว โดยมียุงก้นปล่องซึ่งมีแหล่งอาศัยในป่าเป็นพาหะนำโรคเมื่อถูกยุงนำเชื้อกัด ประมาณ 15-30 วัน จะมีอาการป่วย ไข้สูง หนาวสั่น ต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว เพียงรับประทานยาไม่กี่วันเท่านั้น แต่หากรับการรักษาช้าอาจมีปัญหาทำให้เกิดอาการป่วยรุนแรงมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะมาลาเรียขึ้นสมอง ภาวะปอดบวมน้ำ ภาวะไตวาย ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ต้องระวังเป็นพิเศษ

โรคเลปโตสไปโรซิส

เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในฉี่หนูหรือสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข สุกร โค กระบือ รวมทั้งสัตว์ป่า และสัตว์ฟันแทะที่เป็นสัตว์รังโรค โดยเชื้อปะปนอยู่ในน้ำและสิ่งแวดล้อม เช่น ดินโคลน แอ่งน้ำ ร่องน้ำ น้ำตก ที่ชื้นแฉะมีน้ำท่วมขังเชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังที่เปื่อยยุ่ย ทางบาดแผล รอยถลอก รอยขีดข่วน เยื่อบุจมูก เยื่อบุตา หรือเข้าทางเยื่อบุในช่องปาก บางครั้งอาจติดเชื้อโดยการกินอาหาร หรือน้ำที่ปนเปื้อนที่หนูมาฉี่รดไว้

อาการ หลังจากได้รับเชื้อ 2-29 วัน จะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะที่น่องและโคนขา อาจมีอาการตาแดง คอแข็ง มักมีไข้ติดต่อกันหลายวัน สลับกับระยะไข้ลดอาจมีผื่นที่เพดานปาก หรือมีจุดเลือดออกตามผิวหนังและเยื่อบุ ระยะท้ายอาจมีตับและไตวาย ปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น ดังนั้นหลังจากมีประวัติและพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าว 2-29 วัน ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน

โรคที่มีกับภาวะอุทกภัย

โรคเยื่อตาอักเสบ หรือตาแดง โรคน้ำกัดเท้า อันตรายจากสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง

โรคที่เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย
เช่น โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัสที่เจริญเติบโตได้ในลำไส้ เช่น คอกซากีไวรัส เอนเทอไรไวรัส ซึ่งมีหลายชนิดพบได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี โรคเกิดประปรายตลอดปี แต่จะเพิ่มมากขึ้นในช่วงอากาศเย็นและชื้น

การติดต่อ

เกิดจากได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรง จากการติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากตุ่มพองและแผลหรืออุจจาระของผู้ป่วย โรคแพร่ติดต่อง่ายในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย 3-5 วันหลังได้รับเชื้อ เริ่มด้วยการมีไข้ อ่อนเพลีย ต่อมามีอาการเจ็บปากและไม่ยอมรับประทานอาหาร เนื่องจากมีตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม แล้วจะเกิดตุ่มหรือผื่นนูนสีแดงเล็กๆ ที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท่า ซึ่งต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ อาการจะทุเลาและหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน

โรคนี้ป้องกันได้โดย รักษาสุขอนามัยของเด็กและผู้เลี้ยงเด็กให้สะอาด ตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังขับถ่ายและก่อนรับประทานอาหาร ใช้ช้อนกลาง หลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกัน


บทความจาก :: thaihealth.or.th

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์