ดับเครียดด้วย “คิดบวก”

ดับเครียดด้วย “คิดบวก”


ยุคสมัยนี้ หลายคนบอกว่า “ความเครียด” แทบจะกลายเป็นโรคประจำตัว แวะเวียนมาเคาะประตูบ้านถี่ขึ้น

 ทั้งจากเรื่องในครอบครัว สังคมแวดล้อม หรือ แม้กระทั่งการรับฟังข่าวสารต่าง ๆ ยิ่งเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตด้วยแล้ว ล้วนชักนำ “ความเครียด” ให้เกิดขึ้นได้ง่าย พบได้หลายวัย หลากปัญหา

ผศ.พญ.วินิทรา นวลละออ จิตแพทย์ และผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า กลุ่มคนที่ค่อนข้างเครียดมักพบในวัยรุ่น และผู้ใหญ่ โดยวัยรุ่นส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ เช่น มีปัญหากับเพื่อน ถ้าเป็นวัยผู้ใหญ่มักเป็นเรื่องในที่ทำงาน แล้วก็เรื่องความขัดแย้ง สำหรับวัยสูงอายุไม่ค่อยเครียด แต่มักจะป่วยเป็นโรคทางจิตเวช คือ ซึมเศร้า

นอกจากทักษะน่าสนใจ อย่าง การออกกำลังกาย เล่นโยคะ รวมถึงการนั่งสมาธิ ซึ่ง ผศ.พญ.วินิทรา ได้แนะนำ โดยมีงานวิจัยรองรับมาแล้วว่าปฏิบัติประจำช่วยป้องกันความเครียด ช่วยให้หายเร็วขึ้น หรือ ส่งผลกับเราน้อยลงแล้ว ยังมีอีกหนึ่งทฤษฎีน่าสนใจ เรียกว่า “โพซิทีฟ ไซโคโลจี”

ผศ.พญ.วินิทรา กล่าวว่า โพซิทีฟ ไซโคโลจี เป็นแนวคิดจิตวิทยาซึ่งรู้จักกันมากว่า 10 ปีแล้ว แต่ว่าคนคิดขึ้นมาคนแรกเขาคิดว่ามีทางไหนบ้างทำให้เราเลิกพูดถึงด้านลบของจิตใจ มาพูดถึงด้านบวก ทำให้คนที่เครียดอยู่สุขภาพจิตดีขึ้น ป้องกันตัวเองได้ หรือ ทำให้คนปกติ ทำอย่างไรเขาถึงจะคิดในทางบวก แล้วก็มีชีวิตที่ดีขึ้น

“หลักการสำคัญก็คือ คิดว่าทุกอย่างในโลกนี้มีทางออก เราทำให้ชีวิตมีด้านบวก หรือ ด้านดี ๆ ได้โดยที่ไม่ต้องไปโฟกัสอยู่ที่ด้านลบ หมอเคยฟังเลคเชอร์ของคนที่มาพูดเรื่องโพซิทีฟ ไซโคโลจี เขาบอกว่า คนทั่วไปจะเข้าใจผิดว่าการมองโลกในแง่บวกคือการหลอกตัวเอง แต่โพซิทีฟ ไซโคโลจีบอกว่า เราไม่ได้มองแง่บวกอย่างนั้น เราไม่ได้หลอกตัวเอง โพซิทีฟ ไซโคโลจีควรจะเรียกว่า เรียลลิตี้ ไซโคโลจี มากกว่า คือ การมองชีวิตตามความเป็นจริง

อย่าง ทะเลาะกับสามี เพราะสามีไปมีคนอื่น ก็ต้องดูว่าสามีไปมีคนอื่นเพราะอะไร ถ้าเกิดรู้สาเหตุแบบที่พระพุทธเจ้าท่านบอกไว้ก็คือเราต้องคิดด้วยปัญญา ถ้าเพราะบุคลิกเขาเป็นแบบนี้อยู่แล้ว อาจจะต้องคิดใหม่ว่าอยู่กับเขาต่อไปได้ไหม หรือว่าถ้าอยู่กับเขาต่อ เขามีส่วนดีอื่น ๆ เช่น เขาไม่ดื่มเหล้า เขาดูแลครอบครัว ดูแลลูกดี แล้วสิ่งนี้ยอมรับได้ไหม ถ้ายอมรับไม่ได้อีกต้องเลิกกัน แล้วยอมรับผลที่ตามมาได้หรือเปล่า คือ มองตามความเป็นจริง จะทำให้เครียดน้อยลง”

การมองโลกในแง่ดีแน่นอนคือมีความสุข ซึ่ง ผศ.พญ.วินิทรา มองว่า เหมือนการถอดแว่นสีดำ ที่เดิมมองอะไรก็มืดมนไปหมด เมื่อเราใส่แว่นสีชมพู ดูแล้วก็มีความสุข ทั้งยังทำให้มองเห็นโอกาสดี ๆ เพิ่มขึ้น เวลาคนมีความทุกข์จะมีคำศัพท์ คือ ทิวบ์วิชั่นส์ เหมือนการมองลอดท่อ สิ่งที่เห็นเป็นแสงแค่ปลายทางไกล ๆ สองข้างเห็นแค่ขอบท่อ แต่ถ้ามองโลกในแง่บวก เชื่อว่าโลกนี้ไม่ได้มีแค่ในท่อนี้ เอาท่อออก เราจะเห็นว่าโลกกว้างใหญ่มาก มีทางแก้ปัญหาเยอะ

ลองเปลี่ยนมุมมองปัญหา ค่อย ๆ จัดการอย่างเหมาะสมบนพื้นฐานการมองชีวิตตามความเป็นจริง บางทีทางออกอาจปรากฏรอให้เลือกมากกว่าหนึ่ง

ขอบคุณข่าว :: สสส.

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์