การนับแคลอรีอาจเป็นวิธีการลดน้ำหนักหลายคนนิยมใช้ แต่การนับแคลอรีอย่างเข้มงวด ก็ไม่ง่ายนักทั้งยังทำให้เกิดความเครียดด้วย จนอาจทำให้คุณถอดใจจากการลดน้ำหนักก่อนจะประสบผลสำเร็จ ผู้เชี่ยวชาญจึงได้แนะนำวิธีใหม่ ๆ ที่จะทำให้คุณสามารถควบคุมแคลอรีได้อย่างง่าย ๆ และยังได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างครบถ้วนและสมดุลอีกด้วย นั่นก็คือ หันมานับจำนวนของสีสันจากอาหารที่จะเติมลงในจานอาหารของคุณแทน
สีสันไม่เพียงแต่จะทำให้อารมณ์คุณแจ่มใสขึ้นเท่านั้น แต่สีสันอันหลากหลายจากอาหารยังทำให้การกินของคุณสดใสขึ้นด้วย เนื่องจากอาหารที่มีสีสันอันหลากหลาย มักเป็นอาหารผักและผลไม้ที่อุดมด้วยสารอาหาร และสารเคมีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยสร้างสมดุลแก่สุขภาพและยังช่วยต่อสู้กับโรคร้ายต่าง ๆ รวมทั้งโรคมะเร็งได้ด้วย นอกจากประโยชน์ต่อสุขภาพแล้ว การเลือกกินอาหารตามสีสันยังมีผลโดยตรงต่อการลดน้ำหนักด้วย เพราะอาหารผักและผลไม้เป็นอาหารที่มีแคลอรีต่ำอยู่แล้วโดยธรรมชาติ เมื่อคุณเน้นการบริโภคอาหารหลากสีสัน คุณจึงควบคุมแคลอรีที่บริโภคเข้าไปในตัวโดยไม่ต้องมานั่งนับจำนวนแคลอรีอีกต่อไป
กฎสำคัญ คือ กินอาหารที่มีสีเบจและสีน้ำตาลให้น้อย ๆ อาหารในกลุ่มนี้ได้แก่ ขนมปัง พาสต้า เมล็ดถั่ว อาหารจากแป้งทั้งหลาย ถ้าเติมสิ่งเหล่านี้ลงในจานมากเกินไป ก็จะทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัยเพราะอาหารเหล่านี้มักมีแคลอรีสูง และทำให้หิวได้ เช่น พาสต้าถ้วยหนึ่งมี 200 แคลอรี ขณะที่ผักสีแดงหรือสีเขียวหนึ่งถ้วย มีแคลอรีไม่ถึงหนึ่งร้อย
จากหนังสือเรื่อง What Color is Your Diet? ของนพ.เดวิด เฮเบอร์ พบว่า หัวใจสำคัญในการบริโภคอาหารหลากสีสันก็คือ เลือกอาหารจากแต่ละกลุ่มที่ต่างกัน
กลุ่มสีเขียวเข้ม เช่น บร็อกโคลี กะหล่ำปลี ผักกวางตุ้ง จะช่วยกระตุ้นการทำงานของตับ ในการผลิตแอนไซม์ช่วยสลายสารเคมีที่ทำให้เกิดมะเร็งในร่างกาย
กลุ่มสีเหลือง/เขียว เช่น พืชตระฉันลถั่วสีเขียว (ถั่วฝักยาว ถั่วลันเตา) อะโวคาโด แตงเมลอนสีเขียว จะช่วยรักษาสุขภาพตา
กลุ่มสีเหลือง/ส้ม เช่น แครอท มะม่วง แอปริคอต ฟักทอง มีแคโรตินอยด์ ที่ช่วยป้องกันมะเร็งและช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดหัวใจวาย
กลุ่มสีขาว เช่น กล้วย กะหล่ำดอก กระเทียม ขิง เห็ด มีประโยชน์อย่างมากในการรักษาสุขภาพหัวใจ
กลุ่มสีแดง เช่น มะเขือเทศ แตงโม เป็นอาหารที่อุดมด้วยไลโคปีน ซึ่งช่วยในการลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก และโรคหลอดเลือดหัวใจ
กลุ่มสีแดง/ม่วง เช่น องุ่น ลูกพรุน แครนเบอร์รี่ สตรอว์เบอร์รี่ และแอปเปิ้ลแดง จะมีแอนโธไซอานินส์ ที่มีผลดีต่อโรคหัวใจด้วยการหยุดยั้งการเกิดลิ่มเลือด
กลุ่มสีม่วง/น้ำเงิน เช่น บลูเบอร์รี่ มะเขือม่วง ลูกพลัม ลูกเกด มีสารเคมีที่ดีต่อสุขภาพ เช่นแอนโธไซอานินส์ (Anthocyanins) และฟีโนลิกส์ (Phenolics) ช่วยทำให้ความทรงจำดีขึ้น
ฉะนั้น เติมสีเขียว สีแดง และสีเหลืองอันแสนสดใสให้แก่มื้ออาหารของคุณ คุณจะทำให้ตัวเองได้รับสารอาหารเพิ่มขึ้น ขณะที่แคลอรีลดต่ำลง ยิ่งไปกว่านั้นคุณจะรื่นรมย์มากขึ้นจากการกิน เมื่อมีสีสันและรสชาติที่หลากหลายอยู่บนจานของคุณ