“อาหาร” เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้คนเราสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่เชื่อหรือไม่คะว่า? อาหารที่เรารับประทาน เพื่อหวังที่จะต้องการพลังงานและสารอาหารจากมันนั้น มันกลับก่อให้เกิดโรคร้ายแก่เราอย่างเงียบ ๆ และโรคที่ว่านี้ก็คือ “โรคภูมิแพ้อาหารแฝง” ค่ะ
ด้วยสิ่งแวดล้อมและภาวะที่เร่งรีบของชีวิตคนในยุคปัจจุบัน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้เราวนเวียนกับการรับประทานอาหารแบบเดิม ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเช่นนี้ ซึ่งการรับประทานอาหารซ้ำ ๆ แบบเดิมต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ๆ นั้นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้อาหารแฝงนั่นเองค่ะ
โรคภูมิแพ้อาหารแฝงนี้แตกต่างจากโรคภูมิแพ้อาหารอย่างที่เราคุ้นชินกันนะคะ การแพ้อาหารนั้น เป็นการตอบสนองของร่างกายกับสารบางชนิดในอาหาร ทั้ง ๆ ที่สารนั้นไม่ได้เป็นสารพิษแต่อย่างใดค่ะ ซึ่งการแพ้อาหารโดยทั่วไปมักเกิดอย่างฉับพลันทันที หรือเว้นระยะเพียงเล็กน้อยหลังรับประทาน ต่างจากโรคภูมิแพ้อาหารแฝง ที่ไม่มีการแสดงออกถึงอาการแพ้แต่อย่างใด
โดยทั่วไปแล้ว ร่างกายของคนเรานั้นจะมีระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีโปรตีนตัวหนึ่งที่เรียกว่า แอนติบอดี (Antibody) หรือ อิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin ; Ig) ซึ่งจะพบได้ในสารคัดหลั่งและเนื้อเยื่อ มีอยู่ด้วยกัน 5 ชนิด คือ IgG, IgA, IgM, IgD และ IgE อิมมูโนโกลบูลินแต่ละชนิดจะมีบทบาทหน้าที่การทำงานที่แตกต่างกันออกไป ซึ่ง โรคภูมิแพ้อาหารปกตินั้นเกิดจาก อิมมูโนโกลบูลินชนิด อี (Ig E) และเซลล์ที่สำคัญ ได้แก่ มาสต์เซลล์ ที่อยู่ในเนื้อเยื่อ โดยอาหารจะไปกระตุ้นให้เกิดการสร้าง Ig E ที่มีความจำเพาะกับมาสต์เซลล์นั้น จนทำให้มาสต์เซลล์หลั่งสารเคมีที่เรียกว่า ฮิสตามีน (Histamine) ไปตามเนื้อเยื่อบริเวณต่าง ๆ สารฮีสตามีนนี้จะทำให้เกิดอาการคัน บวม หรือผื่นแดงขึ้น ยิ่งถ้ามีอาการแพ้มาก ก็จะตรวจพบ Ig E สูงมากเช่นกัน
ส่วนโรคภูมิแพ้อาหารแฝงนั้น ไม่ได้แสดงอาการเฉียบพลันทันทีทันใด แต่จะค่อย ๆ สะสมเป็นภัยคุกคามอย่างเงียบ ๆ โดยอาหารจะไปกระตุ้น อิมมูโนโกลบูลินชนิด จี (Ig G) แต่จะไม่ได้ไปกระตุ้นมาสต์เซลล์อย่างการแพ้อาหารปกติ ทำให้ไม่แสดงอาการแพ้ แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ เมื่อเรารับประทานอาหารวนเวียนซ้ำ ๆ ในแบบเดิมอยู่เรื่อย ๆ ร่างกายเราก็จะได้รับสารอาหารชนิดเดิม ๆ ซึ่งจะเป็นการไปกระตุ้น Ig G ให้มีการสร้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมากเกินกว่าที่ร่างกายจะกำจัดให้หมดออกไปได้ จนกลายมาเป็นสารภูมิต้านทานอิสระ และค่อย ๆ กระตุ้นให้เกิดโรคเรื้อรังในที่สุด
ผลกระทบจากโรคแพ้อาหารแฝงนี้ มักขึ้นอยู่กับปริมาณอาหารที่ได้รับ ซึ่งมักมีอาการหลากหลาย ตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาใหญ่ เช่น บางคนแพ้เครื่องสำอางค์ที่ใช้มาเป็นระยะเวลานานแล้ว หรือเป็นสิวเรื้อรัง แม้อายุจะผ่านพ้นช่วงมีประจำเดือนแล้วก็ตาม หรือลุกลามกลายเป็นโรคเรื้อรัง เช่น หวัดเรื้อรัง ข้ออักเสบเรื้อรัง และอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจ เช่น ภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง หรือออทิสติก เป็นต้น
ทุกสิ่งอย่าง...หากตั้งอยู่บนความสมดุล มักเกิดคุณค่าและประโยชน์แก่ตนเองอย่างยิ่ง ในการรับประทานอาหารก็เช่นกัน หากรู้จักเลือกรับประทานอาหาร โดยไม่รับประทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป หรือน้อยเกินไป แต่ควรรับประทานอาหารให้พอดี ซึ่งคำว่า "พอดี" ในที่นี้ ก็คือพอดีทั้งด้านชนิดและปริมาณของอาหาร โดยให้เกิดความหลายหลาย ไม่ซ้ำซากจำเจ เพราะสุขภาพหาซื้อไม่ได้ด้วยเงินนะคะ
วิชาการ.คอม