พบกะโหลกมนุษย์ในถ้ำทางตอนเหนือของประเทศลาว เผยมีอายุเก่าแก่กว่า 6 หมื่นปี บ่งชี้ว่ามนุษย์สมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นบรรพบุรุษของผู้ตั้งถิ่นฐานในออสเตรเลีย
กะโหลกที่ค้นพบในเทือกเขาอันนัมชิ้นนี้ นับเป็นฟอสซิลมนุษย์สมัยใหม่ที่มีอายุมากที่สุดเท่าที่เคยพบในอุษาคเนย์ บ่งบอกว่า มนุษย์ได้เคลื่อนย้ายจากแอฟริกามายังดินแดนแถบนี้เป็นเวลาเนิ่นนานกว่าที่เคยเข้าใจกันถึง 20,000 ปี
ผลการวิเคราะห์ระบุว่า กะโหลกดังกล่าวมีอายุประมาณ 46,000-63,000 ปี
การค้นพบครั้งนี้ยังเผยด้วยว่า มนุษย์โบราณไม่ได้อพยพเลาะเลียบตามแนวชายฝั่งของเอเชียขณะแพร่กระจายไปยังออสเตรเลีย อย่างที่นักวิจัยบางรายเคยบอก หากแต่ได้โยกย้ายลึกเข้าไปทางดินแดนตอนในด้วย
ลอรา แช็กเกลฟอร์ด นักมานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ วิทยาเขตเมืองเออร์บานา-แชมเปญ บอกว่า การเคลื่อนย้ายออกจากทวีปแอฟริกาไปยังเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาค่อนข้างรวดเร็ว
เมื่อเดินทางถึงแล้ว มนุษย์สมัยใหม่ไม่ได้อาศัยอยู่แต่ในสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคยเท่านั้น
แม้เคยมีการค้นพบซากของมนุษย์ที่มีอายุไล่เรี่ยกันนี้ในประเทศจีน และในที่อื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาแล้ว แต่ฟอสซิลเหล่านั้นไม่ได้มีลักษณะของมนุษย์สมัยใหม่ หรือไม่ได้ถูกระบุอายุอย่างแม่นยำ เท่ากับกะโหลกที่พบในลาวดังกล่าวนี้
ข้อค้นพบนี้ยังช่วยยืนยันผลการศึกษาทางพันธุกรรมด้วยว่า มนุษย์สมัยใหม่ได้อาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้เป็นเวลาอย่างน้อย 60,000 ปีล่วงมาแล้ว
แช็กเกลฟอร์ดแถลงว่า เมื่อพิจารณาจากความเก่าแก่แล้ว ฟอสซิลในพื้นที่แถบนี้อาจเป็นบรรพบุรุษสายตรงของมนุษย์พวกแรกๆที่ได้เคลื่อนย้ายไปยังออสเตรเลีย
มีความเป็นไปได้ด้วยว่า แผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นชุมทางของเส้นทางอพยพหลายสาย
นักวิจัยไม่พบศิลปวัตถุภายในถ้ำดังกล่าว จึงเชื่อว่า ถ้ำแห่งนี้ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย หรือที่ฝังศพ เนื่องจากดินในถ้ำมีอายุระหว่าง 46,000-51,000 ปี จึงสันนิษฐานว่า ศพได้ถูกกระแสน้ำพัดเข้าไปในถ้ำหลังจากเจ้าตัวได้ตายลงในบริเวณใกล้เคียง
กะโหลกได้ถูกพบลึกลงไปใต้ผิวดินกว่า 2 เมตรเมื่อปี 2552 ทีมวิจัยได้ใช้เทคนิคหลายอย่างในการกำหนดอายุของซาก
ผลวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences