องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา เปิดเผยว่า ปีนี้มหาสมุทรอาร์คติกสูญเสียปริมาณน้ำแข็งไปมากกว่าเท่าที่เคยมีมา นับตั้งแต่มีการบันทึกโดยใช้ภาพดาวเทียมครั้งแรกเมื่อปี 1979
น้ำแข็งมหาสมุทรอาร์คติคละลายแตะระดับต่ำสุดรอบ 33 ปี
นักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในการคำนวณระบุว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงโดยพื้นฐาน แต่สิ่งที่นอกเหนือจากนั้นก็คือ ทะเลน้ำแข็งตามปกติแล้วจะเข้าสู่ระดับต่ำสุดในช่วงเดือนกันยายน นี่จึงเข้าใจได้ว่า มีแนวโน้มที่ปริมาณการละลายของน้ำแข็งในปีนี้จะยังคงเพิ่มขึ้น
นาซาเผยว่า ขนาดของแผ่นน้ำแข็ง ที่วัดได้เมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยใช้ Special Sensor Microwave/Imager ของโครงการดาวเทียมเพื่อการอุตุนิยมวิทยา และวิเคราะห์ข้อมูลโดยนักวิทยาศาสตร์นาซาและศูนย์ข้อมูลน้ำแข็งและหิมะแห่งชาติสหรัฐฯ (NSIDC) พบว่ามีขนาดประมาณ 4.1 ล้าน ตร.กม. หรือน้อยกว่าที่วัดได้สถิติสุดที่เคยวัดได้เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2007 ถึง 70,000 ตร.กม.
ตามปกติแล้ว น้ำแข็งจะกลับเพิ่มปริมาณได้เองตามธรรมชาติระหว่างช่วงฤดูหนาวของอาร์คติก และละลายเมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน แต่ในช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา ดาวเทียมสามารถสังเกตเห็นการลดลงของน้ำแข็งกว่า 13% ในทุกๆ 10 ปี ในช่วงทุกฤดูร้อนที่น้ำแข็งลดลงต่ำสุด ขณะที่ความหนาของแผ่นน้ำแข็งก็ลดลงเช่นกัน
โจอีย์ โคมิโซ นักวิจัยอาวุโสของนาซาจาก Goddard Space Flight Center กล่าวว่า การลดลงของน้ำแข็งในปีนี้ เป็นผลมาจากสภาพอากาศอุ่นจากปีก่อน ทำให้น้ำแข็งที่เรียกว่า "น้ำแข็งคงตัว" ซึ่งเป็นน้ำแข็งที่ทนทานต่อการละลาย ละลายตัวลงเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ ที่ทำให้แผ่นน้ำแข็งบางลง และนั่นจะทำให้ช่วงฤดูร้อนเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงที่สุด
ด้านวอลต์ ไมเยอร์ นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์ข้อมูลน้ำแข็งและหิมะแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวว่า แม้นี่จะเป็นเพียงตัวเลข และเกิดขึ้นเพียงนานๆครั้ง แต่เมื่อพิจารณาถึงตัวบริบทของสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และจากข้อมูลของดาวเทียม มันคือตัวบ่งชี้ให้เห็นว่าน้ำแข็งในอาร์คติกกำลังเริ่มเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ธารน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์คติคมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก
เนื่องจากคอยทำหน้าที่สะท้อนความร้อนจากดวงอาทิตย์ ซึ่งหมายความว่า มีส่วนช่วยควบคุมอุณหภูมิบนโลกไม่ให้ร้อนจนเกินไป ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน นักวิทยาศาสตร์ยังพบการละลายของธารน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ ใกล้ขั้วโลกเหนือ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเพิ่มระดับน้ำทะเลบนโลกเช่นกัน