โดย “การอ่านอย่างสม่ำเสมอ” เป็นหนึ่งในการพัฒนาสุขภาพจิตที่ดีวิธีหนึ่ง แถมเป็นสิ่งใกล้ตัวด้วย เพราะไม่เพียงความผ่อนคลายที่ได้รับเท่านั้น ยังอาจค้นพบแรงบันดาลใจ ตลอดจนความคิดสร้างสรรค์ มุมมองทางออกใหม่ ๆ ส่วน “การเขียน” อย่าง การบันทึกไดอารี่นั้น หลายคนอาจใช้เป็นช่องทางการระบายความรู้สึก หรือ อุปสรรคปัญหาที่พบในแต่ละวัน ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยบรรเทาความเครียด และความกดดันในใจได้ดี เมื่อความว้าวุ่นคลายลงแล้ว ทำให้มองปัญหาอย่างรอบคอบรอบด้านมากขึ้นด้วย
หรือ “การเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ” อาจเริ่มง่าย ๆ จากเรื่องที่สนใจ เช่น การทำอาหาร ศึกษาภาษาต่างประเทศเพิ่มเติม เล่นกีฬา ปลูกต้นไม้ ฯลฯ ซึ่งการพยายามก้าวผ่านความท้าทายใหม่ ๆ นี้จนสำเร็จ ไม่เพียงความสุขในใจที่รู้สึกได้ แต่ยังก่อให้เกิดความภูมิใจ และรู้สึกดีกับตัวเองด้วย
นอกจากนั้น “การออกกำลังกายเป็นประจำ” อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละไม่ต่ำกว่า 30 นาที ช่วยเพิ่มออกซิเจนในเลือด ระบบหมุนเวียนโลหิตดีขึ้น เกี่ยวกับประเด็นนี้ เคยมีการศึกษาของแผนกจิตวิทยาจากต่างประเทศ ศึกษากลุ่มตัวอย่างเพศชาย ช่วงอายุวัยรุ่น พบว่า หลังการออกกำลังกาย มีการตอบสนองในด้านสมาธิ คิด และจดจำได้ดีกว่าผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย ขณะเดียวกัน ยังดีต่อสุขภาพจิต โดยขณะออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งสารเอ็นโดรฟิน ทำให้รู้สึกสดชื่น ช่วยลดความเครียด คลายกังวล แต่ที่สำคัญ ไม่ควรหักโหมจนเกินไป เนื่องจากอาจทำให้กล้ามเนื้อบาดเจ็บได้
ขณะที่ “การนั่งสมาธิ” ก็ถือเป็นทักษะฝึกใช้คลายเครียดที่น่าสนใจ ซึ่งมีงานวิจัยรองรับมาแล้วว่าปฏิบัติประจำช่วยป้องกันความเครียด ช่วยให้หายเร็วขึ้น หรือ ความเครียดส่งผลกับจิตใจน้อยลง.