"ยามีคุณอนันต์ แต่ก็มีโทษมหันต์" แม้จะเห็นด้วยกับภาษิตที่ว่า การประหยัดเป็นคุณสมบัติที่ดีของคนไทย ฯลฯ
ยาหมดอายุ โปรดดูก่อนใช้
แม้จะเห็นด้วยกับภาษิตที่ว่า การประหยัดเป็นคุณสมบัติที่ดีของคนไทย ฯลฯ แต่มีบางเรื่องที่การประหยัดกลับไม่คุ้มค่า ถึงขนาดอาจต้องแลกด้วยชีวิต!
โดยเฉพาะบรรดายาเก่าเก็บ หรือยาหมดอายุ ขืนยังไม่รีบทิ้ง ไม่ใช่เพียงประสิทธิภาพของยาจะลดลงเรื่อย ๆ ตามเวลาที่ผ่านไป แต่มันอาจกลายเป็นอันตรายได้อย่างไม่คาดคิด แม้แต่ยาที่แพทย์สั่ง ก็ควรกินตามคำแนะนำของแพทย์ครับ นั่นคือห้ามกินเกินกว่าวันที่ และไม่ต้องเก็บสะสมไว้หรอกครับ ที่เหลือให้ทิ้งได้เลย
ในบรรดายาทั้งหลายนั้น โดยมากจะระบุทั้งวันที่ผลิต และวันหมดอายุไว้บนฉลากหรือซองยาอย่างชัดเจน ซึ่งมักจะเป็นภาษาอังกฤษ โดยวันที่ผลิตจะเขียนว่า "Manu. Date" หรือ "Mfg. Date" ตามด้วยวัน-เดือน-ปี ของวันผลิต
ส่วนวันหมดอายุ จะเขียนว่า "Expiry Date" หรือ "Exp. Date" หรือ "Used before" หรือ Expiring หรือ Use by ตามด้วยวัน-เดือน-ปี ของวันหมดอายุ ตัวอย่างเช่น Exp.date 30/07/11 หมายความว่า ยาจะหมดอายุในวันที่ 30 เดือนกรกฎาคม ปี 2011
หากมีการระบุไว้เพียงวันผลิต แต่ไม่ได้ระบุวันหมดอายุ โดยทั่ว ๆ เราถือว่า ถ้าเป็นยาน้ำที่ยังไม่ได้เปิดใช้จะเก็บไว้ได้ 3 ปีนับจากวันผลิต หากเปิดใช้แล้วขึ้นกับว่าดูแลการปนเปื้อนได้ดีหรือไม่ เช่น ยาแก้ไอ แต่ใช้ปากจิบจากขวดยา (ห้ามทำนะครับ เพราะจะไม่รู้ขนาดที่กินเข้าไปชัดเจน) ก็จะปนเปื้อนและเสียได้ในเวลาสองสามวัน หากเทใส่ช้อนกิน ไม่ปนเปื้อน ปิดฝาอย่างดี เก็บไว้ในตู้เย็นสัก 3 เดือนก็เคลียร์ทิ้งกันสักรอบก็จะดีครับ ส่วนยาเม็ดเก็บไว้รักษาได้ 5 ปี นับจากวันผลิตครับ
ยาหมดอายุแล้วให้ทิ้งไปได้เลย ไม่ต้องเก็บสะสมไว้หรอกครับ เพราะยาที่หมดอายุนั้นไม่เพียงกินแล้วไม่ได้ผลในการรักษา แต่อาจเกิดภัยตามมาอย่างคาดไม่ถึง เช่น ยาหมดอายุบางตัวทำให้กระเพาะอาหารระคายเคือง จนอาจกลายเป็นโรคกระเพาะ หรือแทนที่จะระงับโรคกลับทำให้โรคลุกลาม ตัวยาบางชนิดเมื่อเสื่อมอาจก่อโทษภัยแก่ร่างกาย ถึงกับทำให้ไตวายและไตอักเสบได้ครับ
ดูอย่างไร จึงรู้ว่า...ยาเสี่อม
1. ยาเม็ดแคปซูล แคปซูลมักจะบวมโป่ง ภายในแคปซูลจะสังเกตเห็นว่าผงยาเปลี่ยนสี อาจมีเชื้อราขึ้นที่เปลือกแคปซูล จับกันเป็นก้อน แถมมีสีที่เปลี่ยนไป ซึ่งต้องระวังให้มากครับ เพราะยาหมดอายุบางอย่างหากกินเข้าไปอาจเป็นอันตรายต่อไต เช่น ยาเตตราซัยคลิน ถ้าผงยาเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีน้ำตาล ให้ทิ้งทันที เพราะนั่นหมายถึงมันได้เสื่อมสภาพแล้ว
2. ยาเม็ด เมื่อหมดอายุก็มักมีสีเปลี่ยนไป ซีดจางลง แตกกร่อน เป็นผงง่าย เอามือจับรู้สึกเม็ดยานิ่ม ๆ บีบเบา ๆ ก็แตกแล้ว
3. ยาเม็ดที่เป็นแบบเคลือบน้ำตาล (เช่น วิตามินรวม) เม็ดยามักดูเยิ้มเหนียว มีกลิ่นหืน ๆ บูด ๆ
4. ยาน้ำแขวนตะกอน เช่น ยาคล้ายแป้งน้ำใช้ทาแก้คัน ยาลดกรด ถ้าเสื่อมก็จะตกตะกอน จับกันเป็นก้อน เกาะติดกันแน่น เขย่ายังไงก็ไม่กระจายตัว ทั้ง กลิ่น สี หรือรสก็เปลี่ยนไปจากเดิม
แต่ยาแก้อักเสบบางชนิดที่เป็นผงต้องเติมน้ำและเขย่าก่อนกินนั้น หากเติมน้ำเข้าไปในขวดเลยบางครั้งก็เขย่ายากมาก ไม่ยอมละลาย ก่อนเติมน้ำต้องเขย่าขวดให้ผงยากระจาย ไม่เกาะติดก้นขวดก่อนเติมน้ำ และเขย่าอีกครั้ง อย่างนี้ไม่ใช่เสียนะครับ แต่เขย่าผิดวิธี
5. ยาน้ำเชื่อม จะกลายเป็นสีขุ่น ๆ ตกตะกอน เห็นเป็นผง ๆ ไม่ละลาย หรือเห็นเป็นน้ำคนละสีลอยปะปนเป็นเส้น ๆ อยู่ และอาจมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว
6. ยาขี้ผึ้งและครีม ถ้าเสื่อมก็จะพบว่าเนื้อยาแข็ง เนื้อยาแห้งแข็ง หรือสีเปลี่ยนไปจากเดิม
7. ยาหยอดตา หลาย ๆ ท่านอาจไม่ทราบว่ายาหยอดตามีอายุจำกัด จึงนำมาหยอดตาทั้ง ๆ ที่เก่าเก็บเป็นปี หรือบางครั้งหลอดเล็ก ๆ ตัวหนังสือเล็ก ๆ วันเดือนปีเลือนหายไป การหยอดใกล้ตาอาจเกิดการปนเปื้อนจากขี้ตา หรือจากมือผู้ใช้ได้ง่าย ทางที่ดีอย่าเก็บนานครับ สัก 1 เดือนในตู้เย็น หากไม่ได้ใช้ก็เคลียร์ทิ้งได้แล้วครับ
8. ยาบางอย่างที่ต้องเก็บในตู้เย็น มียาบางอย่างเท่านั้นที่จำเป็นต้องเก็บไว้ในตู้เย็น เพื่อกันการเสื่อม เช่น ยาพวกวัคซีนที่ใช้ฉีด พบเห็นคลินิกไหน เอาวัคซีนมาจากตู้ยามาฉีดโดยไม่ได้เก็บไว้ในตู้เย็น ก็ต้องทักท้วงและทวงถามกันหน่อยครับ
9. ยาเม็ดมากมายที่ใส่แผง (กระดาษฟรอยด์) ซึ่งกันทั้งความชื้นและกันการเสื่อมสภาพเร็ว จึงควรจะแกะยาต่อเมื่อถึงเวลาต้องกินแล้วเท่านั้น หากแกะออกมารวม ๆ กันในขวดอาจเสื่อม หมดอายุก่อนวันเวลากำหนด
10. ยาที่ได้จากโรงพยาบาลใส่ถุงซิปมาให้ ไม่มีวันหมดอายุ ไม่ใช่ว่าจะใช้ได้ 5 ปีนะครับ แต่วันหมดอายุอยู่ที่กระป๋องยา โรงพยาบาล คลินิกมักจะไม่ได้เขียนไว้ในซองยาให้ ดังนั้น หากเป็นยาเม็ดที่เหลือค้างไว้ที่บ้าน อย่าเก็บไว้เกิน 1 ปีเลยครับ หากเป็นยาน้ำที่ไม่ใช่ยาแก้อักเสบ สัก 3 เดือนก็เคลียร์กันสักครั้งจะดีกว่าครับ