ผศ.พญ.วินิทรา นวลละออ จิตแพทย์ และผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวถึง โรคย้ำคิดย้ำทำ ว่า ในจิตเวชเรียกว่าเป็นโรคในกลุ่มวิตกกังวล เชื่อว่าเกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทซึ่งเป็นสารในสมองบางตัว และอาจมีปัญหาที่สมองบางส่วน รวมทั้งความกังวลของคนไข้ด้วย ทำให้ความคิดวนเป็นวงอยู่ที่เดิม
โรคย้ำคิดย้ำทำ ประกอบด้วย อาการย้ำคิด คือ คนไข้จะมีความคิดอย่างหนึ่งที่รู้สึกว่าไม่สมเหตุสมผล แต่หยุดคิดไม่ได้ แล้วจะมีอาการที่สองตามมา เรียกว่า ย้ำทำ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความย้ำคิดทำให้เครียดมาก แล้วไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร เช่น กังวลว่ามือสกปรก ซึ่งคนทั่วไปพอล้างมือแล้วก็จะสบายใจขึ้น แต่คนเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำนั้น ความคิดจะวนเป็นวงอยู่ที่เดิม คือ ล้างมือแล้วก็สกปรกใหม่ได้ ก็จะล้างมือใหม่ แล้วก็ดีขึ้น แต่สักพักหนึ่งรู้สึกสกปรกอีกแล้ว ก็จะล้างมืออีก เป็นต้น
สำหรับย้ำทำนั้นมีหลายแบบ ที่พบบ่อย คือ เช็คกิ้ง (ตรวจสอบ) และ เคาท์ติ้ง (การนับ) เช่น ก่อนออกจากบ้านต้องเช็คปลั๊กไฟ เช็คสวิตซ์ไฟ เช็คว่าปิดแก๊สแล้วหรือยัง พอออกจากบ้านล็อคประตูเรียบร้อย แต่ไม่มั่นใจว่าเช็คครบหรือเปล่า ก็จะไขกุญแจกลับไปในบ้านเพื่อเช็ครอบที่ 2 จากนั้นออกมาล็อคประตูบ้าน แล้วก็ไม่มั่นใจอีก ต้องกลับไปเช็คเป็นรอบที่ 3 เพื่อให้คลายความกังวล ถ้าวันไหนเช็คไม่ถึง 3 รอบ ออกจากบ้านไม่ได้ จะเครียดมาก เป็นต้น
ทั้งนี้ โรคย้ำคิดย้ำทำมักพบในวัยผู้ใหญ่ซึ่งบุคลิกเป็นคนละเอียด แต่ไม่จำเป็นเสมอไป โดยผู้ที่ละเอียดตรวจสอบทุกอย่าง ไม่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำในตอนสุดท้ายก็ได้ หรือ ผู้ที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำอาจจะไม่ได้ดูเป็นคนละเอียดมาก ๆ มาก่อนก็ได้เหมือนกัน
ส่วนการรักษา ผศ.พญ.วินิทรา กล่าวว่า มีทั้งการใช้ยา ซึ่งจะช่วยตัดวงจรความคิดที่เป็นวงนั้น ทำให้ปล่อยวางได้มากขึ้น รวมทั้งใช้พฤติกรรมบำบัด และจิตบำบัดร่วมด้วย หลักการ คือ ให้เผชิญหน้ากับความคิดที่กลัว โดยคำนึงถึงความปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิตคนไข้ ตลอดจนปัจจัยด้านสุขภาพ ร่างกายของแต่ละบุคคล และลักษณะรูปแบบของอาการที่คนไข้เผชิญด้วย.