อาหารคาวหวานที่ทุกวันนี้ดูเหมือนจะมีหน้าตาชวนรับประทานไปเสียหมดทุกอย่าง ได้ทำให้หลาย ๆ คน พลั้งใจทานกันจนยั้งแทบไม่อยู่
และนั่นก็เป็นที่มาของความ "อ้วน" ที่นอกจากจะทำให้คุณต้องเสียหุ่นสวยไปแล้ว มันยังนำพาสารพัดโรคร้ายต่าง ๆ มาสู่ร่างกายของคุณอีกด้วย
งานวิจัยจากการศึกษาของนายแพทย์ Gary Foster ผู้อำนวยการ Temple University’s Center for Obesity Research and Education ได้เผยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการควบคุม หรือลดการบริโภคแป้ง ที่มักเรียกกันอย่างทันสมัยว่า "อาหารแป้งต่ำ" หรือ "Low carbohydrate" ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการควบคุม หรือลดการบริโภคไขมัน ที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า "Low fat" ว่ามีผลในการลดน้ำหนัก และดีต่อหัวใจมากน้อยแค่ไหน
โดยศึกษาในประชาชน 307 คน ที่ 2 ใน 3 เป็นเพศหญิง เป็นโรคอ้วนแต่ยังไม่มีโรคแทรกซ้อน เบาหวาน หรือ คอเลสเตอรอลสูง พบว่า เมื่อสิ้นสุด 2 ปี การควบคุมหรือลดการบริโภคไขมัน หรือแป้งให้ผลลดน้ำหนักได้พอ ๆ กัน คือประมาณ 7% หรือ 7.5 กิโลกรัม แต่จุดแตกต่างที่น่าสนใจของอาหารทั้ง 2 รูปแบบนี้ คือ ลดแป้ง ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลที่ดี คือ เอ็ชดีแอล สูงขึ้น 23 % ในขณะที่การลดการบริโภคไขมัน ช่วยเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลที่ดี คือ เอ็ชดีแอล สูงขึ้น 12 %
สิ่งที่น่าประทับใจก็คือในการลดการบริโภคแป้งทำให้ระดับเอ็ชดีแอล สูงขึ้นได้พอ ๆ กับการกินยาเลยทีเดียว
ลดแป้ง vs ลดไขมัน
รูปแบบของการลดการบริโภคแป้งในงานวิจัยนี้ ได้ใช้หลักของ Atkin’s ซึ่งเป็นวิธีการที่โด่งดังกันพอควร ส่วนรูปแบบของการควบคุมหรือลดการบริโภคไขมัน จะจำกัดให้กินพลังงานต่ำลงด้วย ข้อคิดของผู้ทำวิจัยก็คือ ควรมีทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก หรือลดคอเลสเตอรอลว่า จะใช้รูปแบบไหนก็ได้ ส่วนอาหารลดแป้ง เดิมคิดวิตกกันว่าจะมีผลเสียต่อหัวใจหรือไม่ เพราะการลดแป้งก็คือกินไขมันเพิ่มนั่นเอง ซึ่งคาดกันว่าอาจเป็นผลเสียต่อหัวใจ แต่ผลปรากฏว่า ทำให้เอ็ชดีแอล สูงขึ้น 23%
สำหรับผลวิจัยที่ได้ นับว่าน่าจะสามารถนำมาประยุกต์กับคนไทยได้ดี เมื่อเทียบกับวิธีการจำกัดการบริโภคไขมัน เพราะคนไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหญิงไทยสูงอายุ นิยมกินอาหารแป้งและมีรสหวาน ขนมไทยก็มักจะเน้นแป้งและน้ำตาลเป็นหลัก การเน้นลดไขมันในหญิงไทยสูงอายุอาจไม่ตรงประเด็น แต่ถ้าเราเน้นการควบคุมการบริโภคแป้ง น่าจะเห็นผลต่างได้ชัดขึ้น
แต่ก็คงไม่ใช่ไม่กินแป้งเลย ซึ่งการกินแป้งประมาณ 45-50% ของพลังงาน เทียบกับเดิมที่ใช้ค่า 55-60% ก็น่าจะเกิดประโยชน์ต่อหญิงไทยสูงอายุ แต่ถ้าจำกัดแป้งต่ำมากแบบ Atkin จริง ๆ คงยากจะปฏิบัติเพราะว่าหญิงไทยอาจไม่ชินต่อการกินไขมันสูง อาจไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ปฏิบัติเท่าที่ควร
อย่างไรก็ตาม การพยายามลดน้ำหนักอย่างหักโหมก็ไม่เป็นผลดีกับร่างกายของคุณ เพราะผลวิจัยจากมหาวิทยาลัย University of California-San Francisco ให้ข้อมูลว่า จากการศึกษาสุภาพสตรี 99 คน คนที่จำกัดอาหารจะมีฮอร์โมนคอร์ติซอลเพิ่มในเลือด ซึ่งบ่งบอกถึงสภาวะเครียด
จากอาสาสมัครในการวิจัยที่มีทั้งหมด 4 กลุ่ม คือกลุ่มที่จำกัดอาหารเหลือไม่เกิน 1200 แคลอรีต่อวัน และคอยเช็คแคลอรีไม่ให้เกิน และกลุ่มที่จำกัดอาหารเหลือไม่เกิน 1200 แคลอรีต่อวัน แต่ไม่ต้องคอยเช็คแคลอรีไม่ให้เกิน โดยกินอาหารที่ผู้วิจัยจัดให้ และกลุ่มที่ 3 ไม่จำกัดแคลอรีแต่คอยเช็คแคลอรีตัวเอง และกลุ่มที่ 4 ก็กินอิสระ พบว่า กลุ่มที่จำกัดอาหารทั้งกลุ่ม 1 และ 2 มีน้ำหนักลดลง 1 กิโลกรัมใน 3 สัปดาห์ ส่วนกลุ่มที่ไม่จำกัดอาหารน้ำหนักขึ้น 1 กิโลกรัม
จุดที่น่าสังเกตคือ กลุ่ม 1 และ 2 ที่มีน้ำหนักลดลง มีฮอร์โมนคอร์ติซอลเพิ่มในเลือดทั้ง 2 กลุ่ม คือไม่ว่าจะคอยตรวจเช็คหรือไม่ตรวจเช็ค ก็เครียดเช่นกัน และระดับฮอร์โมนสูงกว่าก่อนจำกัดอาหาร และสูงกว่ากลุ่มที่ไม่จำกัดอาหาร งานนี้ เห็นทีว่า ถ้าจะอดก็คงต้องเครียด แถมถ้าปล่อยตัวก็คงเป็นหมู เอาเป็นว่า ลองหันมาสร้างเสริมพฤติกรรมการกินให้ถูกต้อง และบวกกับการออกกำลังกาย น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด