เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ผศ.พญ.วินิทรา นวลละออ จิตแพทย์ และผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า ภาวะดังกล่าวเรียกว่า “โรคกลัว” หรือ “โฟเบีย (Phobia)” ซึ่งอยู่ในกลุ่มโรควิตกกังวล แบ่งได้ 2 กลุ่มใหญ่ คือ สเปซิฟิค โฟเบีย (Specific phobia) เช่น กลัวสิ่งของ กลัวสถานที่บางอย่าง เช่น ที่แคบ ซึ่งเฉพาะเจาะจง
สอง คือ โซเชียล โฟเบีย (Social Phobia) กลัวการเผชิญหน้าผู้คนจำนวนมาก ซึ่งเป็นคนที่ไม่คุ้นเคย เช่น การพูดต่อหน้าคนเยอะ ๆ นำเสนอหน้าห้องประชุม แต่หากเป็นการพูดต่อหน้าคนในครอบครัว 5-6 คนที่คุ้นเคย ก็จะไม่เป็น
ซึ่ง ผศ.พญ.วินิทรา เผยว่า มักพบกลุ่มโซเชียล โฟเบีย เป็นส่วนใหญ่ โดยที่ความกลัวนั้น คือ กลัวจะแสดงท่าทางน่าอายออกไป เช่น กลัวไปยืนขาสั่น กลัวจะขึ้นไปบนเวทีแล้วพูดไม่ออก กลัวว่าจะทำในสิ่งน่าอายต่อหน้าคนเยอะ ๆ ผลตามมาก็คือการพยายามหลีกเลี่ยง เพราะฉะนั้น ก็จะเสียโอกาสในการทำงานหลายครั้ง
ทั้งนี้ การกลัวสิ่งแปลก ๆ นั้น แต่ละคนจะมีประสบการณ์ต่างกัน ซึ่งสัตว์แปลก ๆ บางอย่างอาจจะไปซ้อนทับกับภาพบางอย่างในอดีตของเขา หรือ สัตว์แปลก ๆ นั้นอาจจะไปอยู่ในเหตุการณ์ที่เขากลัวมากแล้วเกิดคู่กัน เช่น ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์แล้วบังเอิญมีสัตว์นั้นอยู่ใกล้ตัว เป็นต้น
สำหรับการรักษา ผศ.พญ.วินิทรา กล่าวว่า มีทั้งการใช้ยา รวมทั้งใช้พฤติกรรมบำบัด หลักการ คือ ให้เผชิญหน้ากับความคิดที่กลัว โดยคำนึงถึงความปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิตคนไข้ ตลอดจนปัจจัยด้านสุขภาพ ร่างกายของแต่ละบุคคล และลักษณะรูปแบบของอาการที่คนไข้เผชิญด้วย.