อาหารดิบ...ดีจริงหรืออันตราย?

เนื้อกึ่งดิบ หรือซาซิมินี่มันช่างหวานนุ่ม แต่กินแล้วมันดีกว่าอาหารปรุงสุกตรงไหน และอันตรายอย่างไร เป็นสิ่งที่คุณไม่รู้ไม่ได้

อาหารดิบ...ดีจริงหรืออันตราย?


                  อาหารดิบนั้นมีเอนไซม์และสารอาหารจากธรรมชาติที่ดีต่อร่างกายที่สุด พร้อมกับช่วยให้คุณลดน้ำหนักได้ด้วย แต่ความจริงคืออะไร ลองไปดูกัน

          ทฤษฎีของอาหารดิบ

              เทคนิคการกิน Raw Food Diet นั้นมีหลากหลายมาก และคุณก็สามารถคิดค้นได้ด้วยตัวเองเสียด้วยซ้ำ โดยปกติแล้วร้อยละ 75-80 ของอาหารที่คุณกินจะมาจากพืช และไม่ปรุงด้วยความร้อนเกิน 115 องศาฟาเรนไฮต์ มีคนน้อยมากที่กินอาหารดิบจริง ๆ โดยนอกจากผักแล้วก็ยังเลือกกินซาซิมิ ปลาดิบ และเนื้อสัตว์ดิบบางชนิดได้ และคุณก็สามารถกินผักและผลไม้สดได้ อย่างหน่ออ่อนของพืช เมล็ดพืช และถั่ว รวมถึงเม็ดมะม่วงหิมพานต์ น้ำผลไม้สด น้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้น น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ และธัญพืช

         สารอาหารและแร่ธาตุจากอาหารดิบ

             ไขมัน : ด้วยความที่อาหารดิบจะเน้นผักกับผลไม้ ปริมาณไขมันที่รับจึงอยู่ระหว่างร้อยละ 20-35 ของปริมาณแคลอรี่ทั้งหมดที่ควรได้รับจากไขมันในแต่ละวัน ข้อดีคือไขมันเหล่านี้จะเป็นพวกไขมันไม่อิ่มตัวที่ดีอีกด้วย

             โปรตีน : แม้จะไม่ได้กินเนื้อสัตว์มากมาย แต่โปรตีนก็ยังอยู่ในระดับพอดี ๆ ด้วยผักใบเขียว เมล็ดพืช และถั่ว

             คาร์โบไฮเดรต : ไม่มากและไม่น้อยเกินไป

             เกลือ : ต้องแยกระหว่างการกินอาหารแบบ Raw Food กับอาหารญี่ปุ่น โดยอย่างแรกนั้นคุณจะพบว่า การบริโภคเกลือน้อยลงมากและอยู่ในปริมาณที่แนะนำคือ โซเดียมไม่เกินวันละ 2,300 มิลลิกรัม (ยกเว้นผู้สูงอายุผู้ป่วยความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือโรคไตเรื้อรัง ซึ่งจำกัดไว้ไม่เกิน 1,500 มิลลิกรัม) ในทางตรงกันข้ามการใช้โชยุอาจทำให้ระดับโซเดียมพุ่งสูงขึ้นได้ง่าย ๆ

         สารอาหารที่จำเป็นอื่น ๆ

              ใยอาหาร : ไม่ต้องห่วงเรื่องใยอาหาร หากคุณกินผัก ผลไม้ ธัญพืช ถั่ว และเมล็ดพืชเป็นหลัก เพราะอาหารเหล่านี้มักจะมีใยอาหารสูงอยู่แล้ว ดังนั้น คุณน่าจะได้รับใยอาหารในปริมาณที่เหมาะสมคือ 22-34 กรัมต่อวัน

             โพแทสเซียม : สารอาหารชนิดนี้มีความจำเป็นต่อการควบคุมระดับความดันโลหิต ลดความเสื่อมของมวลกระดูก และลดโอกาสเกิดนิ่วในไต อย่างไรก็ดี การกินโพแทสเซียมให้ได้ปริมาณ 4,700 มิลลิกรัมต่อวันนั้นค่อนข้างยาก (แม้กล้วยจะมีโพแทสเซียมสูง แต่นั่นก็หมายความว่าคุณต้องกินประมาณ 11 ผลต่อวัน)

             แคลเซียม : แคลเซียมไม่ได้จำเป็นสำหรับกระดูกเท่านั้น แต่ยังสำคัญต่อการสร้างเม็ดเลือดและการทำงานของกล้ามเนื้อ ซึ่งการกินอาหารดิบอาจทำให้คุณได้รับแคลเซียมน้อยเกินไปก็ได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเลือกกินคะน้า ผักใบเขียว แอพริคอตแห้ง เพื่อช่วยทดแทน

            วิตามินบี 12 : ผู้ใหญ่ควรได้รับสารอาหารชนิดนี้ อย่างน้อย 2.4 ไมโครกรัม มันจำเป็นอย่างมาก ต่อกระบวนการเมตาบอลิซึ่มของเซลล์ อย่างไรก็ดี วิตามินบี 12 พบในเนื้อสัตว์เป็นส่วนใหญ่ แม้ยีสต์ธรรมชาติอาจจะพอช่วยชดเชยได้บ้าง แต่การกินแคปซูลเสริมก็อาจจำเป็นเช่นกัน

            วิตามินดี : ผู้ใหญ่ที่ไม่ได้รับแสงแดดมากพอ จำเป็นจะต้องได้รับวิตามินดีอย่างน้อย 15 ไมโครกรัมต่อวัน

         ภัยแฝงจากอาหารดิบ

            ปลาดิบ ลาบ หลู้ อันตรายอย่างไร ลองมาฟัง นพ.ธวัช มงคลพร ผู้เชี่ยวชาญด้านทางเดินอาหารและตับ ร.พ.สมิติเวช สุขุมวิท

         การกินอาหารดิบมีอันตรายอย่างไร

            ภาพรวมคือ ถ้าเรากินเนื้อดิบ หรืออาหารดิบ ก็จะเสี่ยงกับการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น อาหารทะเลดิบ ๆ หรือแม้แต่อาหารปรุงสุกแล้วแต่ปล่อยไว้นาน ๆ ก็อาจจะทำให้ติดเชื้อได้ ยกตัวอย่างเช่น โรคหูดับที่เกิดจากการกินเนื้อหมูดิบปรุงไม่สุก ก็จะมีแบคทีเรียที่ทำให้หูหนวกได้

           อย่างที่สองคือ ถ้าในกรณีที่เป็นเนื้อวัว หรือเนื้อหมู และมีพยาธิตัวตืดอยู่ เวลากินก็จะมีเม็ดสาคูซึ่งก็คือพยาธิที่ยังไม่โตเต็มวัย มันจะเจริญเติบโตภายในตัวเรา จนทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหารบางอย่าง อีกกรณีหนึ่งก็ในเนื้อปลาดิบ โดยเฉพาะปลาทะเล น้ำลึกจะมีพวกพยาธิตัวกลม ซึ่งจะทำให้เราเป็น Accidental Host มาอยู่ในกระเพาะ หรือลำไส้และทำให้เราเจ็บปวดได้

          ทีนี้ ถ้าเป็นปลาน้ำจืด ที่ติดมาก็จะเป็นพยาธิตัวจี๊ดที่จะไชเข้าไปในผิวหนัง หากพยาธิอยู่ที่ตาก็จะสามารถไชเข้าไปได้ทุกที่ หรือบางคนเข้าไขสันหลังก็จะทำให้สมองอักเสบได้

       คนเราจะรู้รึเปล่าถ้ามีพยาธิอยู่ในตัว

         ถ้าไม่มาตรวจก็จะไม่เจอ ขึ้นอยู่กับชนิดของพยาธิ พยาธิบางตัวต้องไปดูที่อวัยวะนั้น ๆ แต่ส่วนใหญ่ มันจะผลิตไข่ออกมากับอุจจาระ ต้องใช้วิธีตรวจอุจจาระ ซึ่งโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนจะมีการตรวจที่ละเอียด คือปั่นให้ข้นแล้วเอาที่ข้น ๆ มาตรวจดู ก็จะตรวจหาไข่ของพยาธิได้ดีขึ้น


         ความจริงในปัจจุบันพยาธิก็เป็นเรื่องไกลตัวพอสมควร เพราะเดี๋ยวนี้เรามีห้องน้ำในบ้าน แต่เราจะรู้ได้ยังไงว่า แม่ครัวล้างมือสะอาดพอ หรือเขามีไวรัสตับอักเสบเอหรืออีไหม? หรือว่าเขาปรุงอาหารสุกขนาดไหน ถ้าเขาปรุงไม่สุกเราจะรู้รึเปล่า? 

         ฉะนั้น จึงอยากให้กินทุกอย่างที่ปรุงสุกแล้ว ในกรณีของเนื้อสัตว์ขอให้ปรุงสุกและใหม่ก็จะปลอดภัยกว่ามาก ส่วนผักสลัดก็ควรล้างด้วยตัวเอง โดยล้างแล้วเทน้ำทิ้ง เผื่อบางทีมีไข่ติดอยู่ และจะได้เอาสารเคมีออกไปด้วย ในกรณีที่สัตว์มีเปลือกอย่างหอยจะต้องต้มนานกว่าปกติ และที่สำคัญกว่านั้นก็คือถ้ามีอาการผิดปกติก็ต้องปรึกษาแพทย์


ขอบคุณข้ัอมูลจาก Lisa

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์