การทำความสะอาด หู
หูเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ในการได้ยินเสียงและรักษาสมดุลในท่าทางต่างๆ ของร่างกาย ดังนั้นเราจึงควรดูแลรักษาอวัยวะส่วนนี้เป็นอย่างดี ตามสุขบัญญัติ 10 ประการ
ที่เราท่องกันตั้งแต่เด็กๆ มีข้อหนึ่งว่า ต้องดูแลทำความสะอาดร่างกาย อาบน้ำวันละอย่างน้อย 1 2 ครั้ง แล้วจึงมาถึงคำถามสำคัญว่า เราต้องทำความสะอาดหูด้วยหรือไม่ แล้วจะทำอย่างไร มีหลายคนเปรียบเทียบหูกับฟัน เมื่อเราอาบน้ำ และแปรงฟันตอนเช้ากับก่อนเข้านอน ดังนั้นเราก็ควรทำความสะอาดหูไปด้วยเลย เช่น ทำความสะอาดใบหู และใช้ไม้พันสำลีปั่นเช็ดล้างคราบสิ่งสกปรกในรูหูหลังอาบน้ำเป็นประจำ ด้วยกลัวเกรงว่าขี้หูและน้ำที่เข้าไปในหูจะทำให้เกิดความสกปรกขึ้นในหูได้ ถ้าท่านคิดจะทำแบบนี้ขอเรียนให้ทราบว่าท่านกำลังคิดผิดครับ และถ้าท่านทำแบบนี้อยู่ขอได้โปรดปรับเปลี่ยน เพราะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี
ก่อนอื่นต้องอธิบายกันก่อนนะครับว่า "ขี้หู" ไม่เหมือน "ขี้ฟัน" ขี้ฟันเป็น สิ่งที่ไม่ดีโดยสิ้นเชิง แต่ขี้หูกลับตรงกันข้าม เป็นสิ่งที่ดีนะครับ เพราะว่าขี้หูที่ชื่อดูไม่น่าปรารถนานี้ ประกอบไปด้วยผิวหนังที่ลอกหลุดรวมกับสารไขมันที่สร้างจากต่อมไขมันและต่อมพิเศษในรูหู ทำหน้าที่ให้ความชุ่มชื้น ป้องกันการระเหยของน้ำและความร้อน รวมทั้งมีคุณสมบัติเป็นสารฆ่าเชื้อโรคอย่างอ่อน ดังนั้น ขี้หูถือเป็น สิ่งปกติและมีประโยชน์ครับ ถ้าไม่มีขี้หู ผนังภายในช่องหูจะแห้งแตก เกิดการระคายเคือง คัน อักเสบขึ้นมาได้ ถ้าเป็นขี้หูแห้งปกติ เมื่อถึงเวลาก็จะหลุดลอกออกมาเป็นแผ่น ร่วงหล่นออกมาตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องไปแคะหรือเช็ด ออกแต่อย่างใด การใช้ไม้พันสำลีปั่นเข้าไปในหูจึงถือว่าไม่มีความจำเป็น แต่กลับก่อให้เกิดโทษได้ เพราะถ้าปั่นเช็ดแรงเกินไป ก็จะทำให้เกิดเป็นแผลในช่องหู แล้วมีการอักเสบติดเชื้อตามมา เกิดการปวดหูขึ้นมาได้ หรือถ้าไม้พันสำลีมีขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในคนที่มีรูหูเล็กหรือในเด็ก จะกลับกลายเป็นว่าแทนที่จะเช็ดเอาขี้หูออกมา
กลับกลายเป็นการเข้าไปอัดดันขี้หูให้ลึกเข้าไปด้านใน จนก่อตัวเป็นก้อนแข็งอัดแน่นเกิดการอุดกั้นของรูหู ทำให้ได้ยินเสียงลดลงและปวดอึดอัด เกิดการอักเสบในหูขึ้นมาได้ ดังนั้น การทำความสะอาดหูที่ดีที่สุดคือการเช็ดเฉพาะใบหูและหูชั้นนอกด้วยผ้าสะอาดเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องเข้าไปเช็ดหรือปั่นในรูหูเลยครับ
ส่วนการแคะหูด้วยไม้แคะหู หรือของแข็ง อันนี้หมอหู คอ จมูก ขอห้ามเด็ดขาดครับ เพราะมีโทษและอันตรายมากกว่าประโยชน์ ผิวหนังภายในรูหูนั้นบางมาก การใช้ไม้แคะหูมักจะก่อให้เกิดรอยขูดและถลอกขึ้น ตามด้วยการอักเสบ และ ติดเชื้อได้ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหูอย่างรุนแรง หรือถ้าบังเอิญถึงคราวเคราะห์ ขณะแคะหูมีใครก็ตามวิ่งเข้ามาชนแขนโดยอุบัติเหตุ จะทำให้ไม้แคะหูที่ใช้อยู่ กระแทกเข้าไปยังเยื่อแก้วหู ก่อให้เกิดแก้วหูทะลุขึ้นมาได้ อันนี้จะยุ่งแล้วครับ เพราะผู้ป่วยจะต้องรีบมาพบแพทย์โดยทันที มิเช่นนั้นแก้วหูจะทะลุถาวรได้
การล้างหูโดยกรอกน้ำ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อบางชนิด เช่น ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ล้างเข้าไปในรูหูเพื่อชะล้างขี้หูออกให้หมดถือว่าเป็นอันตราย ไม่แนะนำ ให้ทำ เพราะเป็นการกัดเนื้อเยื่อ ก่อให้เกิดการเปื่อยยุ่ยของเยื่อบุแก้วหูได้เช่นกัน สรุปว่าหูของเราเช็ดแต่ภายนอก ข้างในแตะนานๆ ครั้งก็พอ
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!