(เพราะมันมีผลต่ออารมณ์ของคุณ ด้วย) มันไม่น่าเป็นไปได้ ตั้งแต่เริ่มวิจัยแล้วว่าจะมีคนทำวิจัยเรื่องนี้ แต่ก็เป็นไปแล้ว และผลการวิจัยที่ได้ ก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะเขาค้นพบว่า คำที่คุณพิมพ์ด้วยมือแต่ละข้างนั้น ส่งผลต่อความรู้สึกของเราแตกต่างกัน โดยเฉพาะคำบางคำ เช่น คำว่า ‘sad' ที่แปลว่าเศร้าในภาษาอังกฤษ ถูกพิมพ์ด้วยมือซ้ายทั้งหมด ส่วนคำว่า ความสนุกสนาน หรือ ‘jolly' เราสามารถพิมพ์ด้วยมือขวาได้หมดบนแป้นพิมพ์ และมันสร้างความรู้สึกกับผู้พิมพ์อย่างนั้นจริงๆ เสียด้วย
การศึกษานี้ทำขึ้นโดยความร่วมมือของ University College London ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ และ The New School for Social Research ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พบว่า การเรียงตัวอักษรแบบ QWERTY บนคีย์บอร์ด ส่งผลให้การพิมพ์คำด้วยมือข้างซ้ายสร้างความรู้สึกในแง่ลบ มากกว่าการพิมพ์จากตัวอักษรที่อยู่ฝั่งขวามือ
ที่เป็นอย่างนั้นก็ เพราะว่าตัวอักษรที่อยู่ในฝั่งซ้าย นั้นพิมพ์ได้ยากกว่าตัวอักษรที่อยู่ฝั่งขวา การพิมพ์ตัวอักษรที่อยู่ในฝั่งซ้ายจึงทำให้เกิดความรู้สึกทางลบได้มากกว่า การพิมพ์ตัวอักษรในฝั่งขวา เพราะการจัดลำดับอักษรแบบ QWERTY พบว่ามือซ้ายจะครอบคลุมตัวอักษรสำคัญภาษาอังกฤษ 15 ตัวอักษร มากกว่าฝั่งขวาที่มีอยู่ 11 ตัวอักษร และยิ่งตำแหน่งของตัวอักษรแต่ละตัวบนคีย์บอร์ดอยู่ห่างกัน หรือมีความซับซ้อนของการสะกดมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งสร้างความรู้สึกเป็นลบมากขึ้น ซึ่งบางครั้งก็ สอดคล้องกับความหมายของคำอย่างน่าประหลาด เช่น เราจะรู้สึกดีกับคำว่า jolly (สนุกสนาน) มากกว่า sad (เศร้า) และรู้สึกดีกับคำว่า money (เงิน) มากกว่า tax (ภาษี)
รายงานการวิจัยนี้ ตีพิมพ์ใน Psychonomic Bulletin and Review เมื่อมกราคมที่ผ่านมา (หลังจากที่เรานั่งกดคีย์บอร์ดแบบ QWERTY มากว่า 150 ปี) โดยศึกษาจากการพิมพ์คำ 1,000 คำใน 3 ภาษา คือ อังกฤษ เยอรมนี และสเปน พบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว เราจะใช้มือซ้ายพิมพ์คำมากกว่ามือขวา และเมื่อเปรียบทุกๆ ตัวอักษรที่พิมพ์ ตัวอักษรที่พิมพ์ด้านขวามือให้ความรู้สึกทางบวกมากกว่าตัวอักษรที่อยู่ทางซ้ายราวร้อยละ 4 นักวิจัยลองทำการทดลองต่อไปโดยเน้นที่คำสมัยใหม่ ก็ยิ่งพบว่าการพิมพ์ด้วยมือข้างขวานั้นก็ยังให้ความรู้สึกด้านบวกมากกว่า และคุณอาจสงสัยว่าพวกเขาทำการศึกษาเรื่องพวกนี้กันไปเพื่ออะไร
การศึกษานี้ทำให้เราเห็นว่ายุคนี้ อิทธิพลของ ตัวอักษรบนคีย์บอร์ดนั้นส่งผลต่อความรู้สึกของเรามากกว่าการเขียนไปแล้ว ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับบริษัท แบรนด์สินค้าต่างๆ ที่กำลังคิดถึงเรื่องการสร้าง ‘คำ' หรือชื่อที่ถูกต้องเหมาะสมจริงๆ ยามที่เราต้องการหาในกูเกิล เพื่อเสริมสร้างความรู้สึกทางบวก ลดความเครียด และลดความรู้สึกลบต่อสินค้า แต่หลักการนี้ เป็นเรื่องยากพอสมควรที่จะใช้ในภาษาไทยนะครับ หลังจากเราลองพิมพ์ดู ก็พบว่าคำในภาษาไทยส่วนมากต้องใช้ผสมกันทั้งสองมือ และซับซ้อนกว่า เพราะเรามีวรรณยุกต์มากกว่าลืมบอกไปว่า นักวิจัยยังพบด้วยว่าคีย์บอร์ดมีส่วนสำคัญอย่างมากในการสร้างศัพท์ใหม่ๆ โดยเฉพาะพวกคำย่อหรือคำใหม่ๆ ที่ถูกทอนตัวพยัญชนะลงอีกด้วย