โรคนิ้วล็อคเป็นอีกโรคทางกล้ามเนื้อและกระดูกที่เป็นกันได้ทุกวัย โรคนี้ไม่มีอันตรายถึงกับชีวิตแต่อย่างใด
แต่เมื่อโรคนี้เกิดขึ้น มือของคุณจะไม่มีทางกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้ 100% มันจะทั้งเจ็บปวดทั้งน่ารำคาญทำอะไรก็ไม่สะดวก แถมยังต้องระวังเป็นพิเศษจนคุณแทบอยากจะหักนิ้วทิ้ง สาเหตุของการเกิดนิ้วล็อคนี้มาจากหลายสาเหตุ อาทิ การยกของหนัก การเกร็งนิ้ว การหิ้วต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้ "ปลอกหุ้มเอ็นอักเสบ" มากขึ้นมาก ๆ จนนำไปสู่ภาวะนิ้วล็อคได้
เมื่อเกิดโรคนี้แล้วก็ต้องทำใจด้วยความที่ว่ามันไม่สามารถหายขาด แต่อย่างไรก็ตาม เราสามารถทำให้อาการดีขึ้นได้ เช่น การนวดทุยหน่า (นวดแผนจีนโบราณ) กายภาพมือ หรือวิธีที่สามารถทำได้แต่ละวันอย่างการนำขนมปังชุบน้ำส้มสายชู พันตรงนิ้วที่มีอาการ ก็จะช่วยทำให้นิ้วล็อคมีอาการที่ดีขึ้นตามลำดับ
ฉบับนี้เราจึงได้เรียง 5 อันดับอาชีพที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคนิ้วล็อคมาให้อ่านกัน เผื่อว่าคุณมีอาจจะกำลังอยู่บนความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้โดยไม่รู้ตัว
1. นักกอล์ฟ (Golfer)
นักกอล์ฟหลายท่านมักจะประสบกับปัญหานิ้วล็อค สาเหตุก็เพราะท่านนักกอล์ฟนั้นซ้อมอย่างหนักหน่วง การเกร็งจับไม้กอล์ฟที่แน่น การแรงสวิงมากเกินไป และการหวดวงสวิงซ้อมติดต่อกันอย่างไม่เว้นช่วง สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยแรกที่ส่งผลทำให้เกิดการอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นที่นิ้วมือ
ส่วนปัจจัยที่สองที่ส่งผลให้เกิดการอักเสบนิ้วล็อคก็คือ การเลือกไม้กอล์ฟที่หนักเกินกำลังของวงแขนและมือ โดยส่วนใหญ่ท่านนักกอล์ฟจะเลือกไม้ที่มีความหนักอย่างไม้กอล์ฟก้านเหล็กที่ความแข็งของก้านตั้งแต่ 5.5 - 6.5 ขึ้นไป เพื่อหวังระยะในการตีแต่ละครั้ง ทุกครั้งที่หวดซ้อมลูกและโดนลูกไม่เต็มใบ แรงสั่นหรือแรงช็อคของไม้จะส่งถึงมือและข้อนิ้วโดยตรงเป็นเหตุให้เกิดโรคนิ้วล็อคในระยะยาว
2. หมอนวดแผนโบราณ (Massager)
นวดแผนโบราณดูแล้วน่าจะเป็นอาชีพที่เสี่ยงน้อยที่สุด เพราะน่าจะมีความเข้าใจในเรื่องของเส้นเอ็นและกระดูกมากกว่าคนทั่ว ๆ ไป แต่หมองูตายเพราะงูมามากนักต่อนักแล้วครับ นวดแผนโบราณเป็นอาชีพที่ใช้นิ้วมืออย่างหนักหน่วงมาก โดยเฉพาะนิ้วหัวแม่โป้ง ข้อนิ้วมือแรกและหลังข้อนิ้วที่สอง เพราะต้องทำการกดบีบ ตัดเส้นให้กับลูกค้าผู้เส้นตึงทั้งหลาย โดยเฉพาะการนวดเท้าซึ่งผู้ที่มีเท้าแข็งและหนาจะสร้างความลำบากให้นิ้วมือของหมอนวดเป็นอย่างมาก แม้ว่าจะมีไม้นวดเท้าออกมาช่วย แต่อาชีพนวดแผนโบราณนั้น ก็ยังคงเสี่ยงนิ้วล็อคอยู่ดี เพราะไม่ใช่แค่ส่วนเท้าอย่างเดียวที่ต้องนวด แต่หมายถึงทั้งร่างกายตั้งแต่หัวจรดเท้าที่มือต้องทำหน้าที่บีบนวดคลายเส้น
3. ช่าง (Craftsman, Mechanic)
อันดับ 3 ตกเป็นของอาชีพช่างทั้งหลาย ช่างนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องใช้มืออย่างหนัก เพราะในทุก ๆ วันต้องอยู่กับเครื่องมือเครื่องไม้ที่ใช้แรง โดยเฉพาะงานอย่างช่างฝีมือหรือช่างเครื่องที่วัน ๆ ต้องอยู่กับไขควง ประแจ สิ่ว กบไสไม้ ขวาน หรือค้อนต่าง ๆ งานใดที่ยิ่งประณีต นั่นหมายถึงเวลาและเรี่ยวแรงที่ต้องเสียไป ช่างฝีมือ อาทิ ช่างไม้ไทยที่ทำหน้าที่สร้างบ้านเรือนไทยอย่างเรือนเครื่องสับ จะต้องอยู่กับเลื่อย สิ่ว ค้อน ทั้งวัน เพื่อที่จะทำหน้าที่ขึ้นรูปไม้ที่จะใช้ประกอบไม้ในแต่ละชิ้นส่วนงานออกมาให้ประณีตที่สุด ซึ่งนั่นก็หมายถึงความเสียหายที่มือจะต้องได้รับนั่นเอง
4. นักยูโด (Judo, Jujitsu)
อาชีพนักยูโดเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ต้องฝึกฝนกำลังข้อมือกำลังแขน และกำลังนิ้วเป็นอย่างมาก เพื่อที่จะได้มีความแข็งแรงมากพอที่จะจับคู่ต่อสู้ทุ่มลง ฟาดนอนไปกับพื้น ซึ่งนักยูโคต้องใช้มือกำตรงชายเสื้อชุดยูโด (กิ) แล้วฉุดกระชากดึงในท่วงท่าที่หลากหลายรูปแบบเพื่อให้คู่ต่อสู้เสียหลัก ซึ่งบางครั้งคู่ต่อสู้บิดตัวทำให้ชายเสื้อม้วนรัดที่กำปั้นและข้อมือ ก็นำมาซึ่งอาการบาดเจ็บได้
กีฬายูโดเป็นกีฬาที่ต้องใช้กำลังนิ้วติดต่อกับเป็นเวลานานไม่ว่าจะเป็นในเวลาแข่งหรือในเวลาซ้อม อีกทั้งนักยูโดจะฝึกกำลังนิ้ว ด้วยการนำเอายางในจักรยานมาผูกเข้ากับเสา แล้วดึงขึ้นลงอยู่ตลอดทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคนิ้วล็อคได้มากกว่าอาชีพอื่น ๆ
5. แม่บ้าน (Housewife)
อันดับสุดท้าย เป็นเรื่องที่ไม่น่าคาดคิดครับว่าเป็นอาชีพที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด นั่นก็คือ แม่บ้านนั่นเอง งานหลักของแม่บ้านนั้นก็คือทำงานในบ้าน ไม่ว่าจะทำกับข้าว จ่ายตลาด ทำความสะอาดบ้าน แต่ในทุกรายละเอียดของการทำงานนั้นเต็มไปด้วยสภาวะที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคนิ้วล็อคทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นหิวตะกร้าหรือหิ้วถุงเดินตลาด ทำกับข้าวที่ต้องใช้แรงผัด แรงกวน หรือการซักผ้า บิดผ้าความเสี่ยงที่จะเกิดนิ้วล็อคล้วนเกิดขึ้นตลอดเวลาในการทำงาน ที่สำคัญอาชีพแม่บ้านนั้นไม่มีวันหยุด ปัจจุบันแม่บ้านเป็นจำนวนมากจึงต้องเจอกับโรคนิ้วล็อคอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก