ไปไกลกว่ามาก ชาวเวียดนามอ่านมากกว่าคนไทย 10 เท่า

ไปไกลกว่ามาก ชาวเวียดนามอ่านมากกว่าคนไทย 10 เท่า


1 ปีคนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยกี่เล่ม ? คำถามปวดใจสำหรับเมืองไทยทุกครั้งที่ได้ยินคำตอบ

แต่ถ้าย้อนมองปรากฏการณ์ "งานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ"ทุกครั้ง กลับกลายเป็นภาพน่าชื่นใจแทนประเทศชาติที่เห็น "หนอนหนังสือไทย" จากทั่วสารทิศนัดรวมพลกันอย่างเนืองแน่นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อมาเดินเบียดเสียดจับจ่ายหอบหิ้วหนังสือกลับบ้านจนไหล่ทรุด แม้แต่ภาพคนไทยคลั่งไคล้การอ่านอย่างเมามัน ยินยอมยืนขาชาต่อคิวยาวเหยียด เพื่อขอลายเซ็นนักเขียนในดวงใจ

ในห้วงยามนับถอยหลังของกรุงเทพฯ สู่การเป็น "เมืองหลวงหนังสือโลก" ในปีหน้า (พ.ศ. 2556) เป็นจังหวะหัวเลี้ยวหัวต่อและเดิมพันสำคัญของไทยในการก้าวขึ้นแท่นเป็นศูนย์กลางหนังสือและการอ่าน ทว่าปัญหาใหญ่ระดับชาติ คือ สถิติการอ่านของคนไทยยังคงน่าเป็นห่วง

"ประชาชาติธุรกิจ-เซ็กชั่นดีไลฟ์" จึงอยากชวนมาทบทวนมายาคติที่ห่อหุ้มวงการ "นักอ่านและนักเขียนไทย" อีกสักครั้ง หลังจากเคยมีกระแสฮือฮาของสถิติ "คนไทยอ่านหนังสือแค่ปีละ 7-8 บรรทัด"

แม้จะเป็นตัวเลขที่ค้านสายตาคนไทยส่วนใหญ่ แต่กลายเป็นสถิติที่คนไทยจำได้แม่นยำ เป็นเดือดเป็นร้อนให้หลายฝ่ายลุกขึ้นขยับเขยื้อนสร้างวัฒนธรรมการอ่าน แต่ทำได้แค่ชั่วเวลาหนึ่งเท่านั้น

ถึงเวลานี้ ผลลัพธ์ก็ยังคืบคลานไปไม่ไกล ดังคำกล่าวของ "กุลธร เลิศสุริยะกุล"ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาหลักสูตร สำนักงาน กศน.เผยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าเด็กไทยมีอัตราการอ่านหนังสือลดลง ในปัจจุบันเด็กไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยเพียง 2-5 เล่มต่อปี ถือเป็นอัตราที่ลดลงเรื่อย ๆ จากแต่ละปีสถิติถอยหลังที่น่าหดหู่ใจ ยิ่งห่อเหี่ยวใจเข้าไปอีก เมื่อนำตัวเลขของไทยมาวางเทียบกับสมาชิกอาเซียนพบว่า "การอ่านของคนไทยอยู่ในระดับวิกฤต ขณะที่เด็กไทยอ่านหนังสือปีละ 2-5 เล่ม แต่สิงคโปร์เฉลี่ยคนละ 50-60 เล่มต่อปี แต่ที่น่าตกใจยิ่งกว่า คือเวียดนามมีอัตราการอ่าน 60 เล่มต่อปี ขณะที่ฝั่งไทยยังไม่แตะถึงเลขสองหลักด้วยซ้ำไป"

แม้คลื่นกระแสเทคโนโลยีเข้าถาโถมซัด "สื่อกระดาษ" ให้เป็นไม้ใกล้ฝั่งรอวัยหมดอายุขัย แต่ในสายตาอาจารย์กุลธรยังมองว่า "การอ่านจากกระดาษยังเป็นสิ่งคลาสสิกที่สุดแล้วในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร"

ถ้าการอ่านถือเป็นรากแก้วสำคัญในการพัฒนา "ทรัพยากรมนุษย์" ของแต่ละประเทศ หากแต่คนไทยยังไม่มีนิสัยรักการอ่าน ก็เหมือนทฤษฎีโดมิโน พานให้เรื่องอื่นล้มระเนระนาดตามไปด้วย

คำถามซ้ำซากที่หลายคนอยากเบือนหน้าหนี คือเหตุใดคนไทยถึงอ่านหนังสือลดลง ? แทนที่จะมานั่งโยนข้อหาให้ใครรับผิด หันกลับมาช่วยกันระดมสมอง เพื่อให้คนไทยอยากหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านกันดีกว่า

นักวิชาการด้านการศึกษาอธิบายว่า พฤติกรรมการอ่านหนังสือมีความสัมพันธ์กับทั้งระดับการศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจ และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ หากทุกคนตระหนักรู้ว่าการอ่านหนังสือมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของคน ก็จะทำให้เกิดแรงจูงใจในการอ่าน

หากนำค่าเฉลี่ยการอ่านของเด็กไทยมากางดูอย่างละเอียดแล้วจะพบว่า ในจุดที่วิกฤตนั้นยังพบจุดอันตรายที่น่าห่วงยิ่งกว่า นั่นก็คือการอ่าน

ของคนชนบทน่ากังวลยิ่งกว่าสังคมเมือง อันเป็นการตอบโจทย์อิทธิพลของการอ่านหนังสือได้ชัดเจนที่สุด แต่คำถามต่อมาคือหนังสือในท้องตลาดที่มีอยู่ตอบสนองกลุ่มคนในชนบทมากน้อยแค่ไหน

"ถ้าเกิดชาวบ้านอ่านหนังสือแล้วถามกลับมาว่าอ่านแล้วไม่เห็นจะทำนาทำไร่ดีขึ้นเลยไม่ได้เกี่ยวอะไรกับชีวิตความเป็นอยู่เหตุใดเขาต้องหยิบอ่านหนังสือ"

ฉะนั้นปมปัญหาหลักอยู่ที่เนื้อหาหนังสือที่วางขายตามท้องตลาดไม่ได้ตอบโจทย์คนอีกหลายกลุ่มในประเทศ หากอยากทำให้การอ่านแพร่กระจายทั่วไทย สิ่งสำคัญคือการผลิตเนื้อหาหนังสือควรสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนแบบครอบคลุม ไม่ใช่คนแค่หยิบมือเดียว

คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในเมือง แต่หนังสือหรือนิตยสารส่วนใหญ่บนแผงเลือกตอบโจทย์แค่คนเมือง นั่นเพราะยังไงก็ขายได้ แต่ใช่ว่ากลุ่มเป้าหมายที่เหลือไม่มีกำลังซื้อ เพียงแต่ยังไม่มีใครกล้าเสี่ยงมาลองทำการตลาดกับคนกลุ่มนี้

ในวิกฤตนี้ยังพอมองเห็นโอกาสอยู่บ้าง แต่การขยายตลาดหนังสือ ตลาดนักเขียน สู่การขยายฐานคนอ่านให้กว้างขึ้นยังเกิดขึ้นน้อยมาก เนื่องด้วยกลุ่มนักเขียนหน้าใหม่ที่เข้ามาในตลาด ก็มักจะเดินตามรอย

นักเขียนรุ่นพี่ ที่ผลิตต้นฉบับตอบโจทย์ทางวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่ม เพราะมีตลาดหลักที่ "ขายได้" และ "ขายดี" ขืนเบี่ยงออกนอกเส้นทางอาจจะ "ไส้แห้ง" ได้

เนื่องจากมายาคติที่ฝังอยู่ในอาชีพนักเขียนก็คือ "ไส้แห้ง" ซึ่งอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ ตามความเชื่อของ "วรพันธ์ โลกิตสถาพร" นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ (PUBAT) มองว่า นักเขียนไม่ได้ไส้แห้งเหมือนในอดีต

"ถ้านักเขียนขยันผลิตผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ อาจจะปีละ 4-5 เล่ม ก็ไม่ไส้แห้งแล้ว กรณีนักเขียนบางรายขายดิบขายดีแค่เล่มเดียว ก็สามารถมีรายได้กินอยู่เป็นปีอย่างสบาย ๆ แต่ทางกลับกันนักเขียนไส้แห้งยุคนี้คือ 3-4 ปีออกเพียงเล่มเดียว ยิ่งเป็นเนื้อหาที่ไม่โดนใจตลาด ก็ยังต้องไส้แห้งอยู่ดี"

นักเขียนที่มีหนังสือขึ้นทำเนียบเบสต์เซลเลอร์ ส่วนใหญ่เป็นระดับ "นักเขียนเซเลบริตี้" ซึ่งคนดังกลุ่มนี้จะมีอำนาจต่อรองกับสำนักพิมพ์ได้มากกว่านักเขียนใหม่ไร้ชื่อเสียง

แต่ก็ยังมีพื้นที่ในโลกออนไลน์ให้"นักอยากเขียน"ได้แสดงฝีมืออีกมากเช่นเว็บ dek-d.com, sanook, pantipถือเป็นตลาดทดลองเขียน ทดลองอ่าน หากเรื่องใดมียอดคนอ่านสูง สำนักพิมพ์ย่อมมีสิทธิ์สนใจติดต่อมาตีพิมพ์

ถึงกระนั้น โลกออนไลน์ก็ยังคงจำกัดอยู่แค่คนเมือง แต่นาทีนี้สังคมไทยกำลังต้องการตัวช่วยและพลังในการขับเคลื่อนสถิติการอ่านให้กระเตื้องขึ้น ไม่ใช่ถอยหลังอย่างที่เป็นอยู่

ก่อนถึงปี พ.ศ. 2556 เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเสียหน้าในฐานะ "เมืองหลวงหนังสือโลก"

จึงเป็นภาระของทั้ง "คนอ่าน-คนทำ-คนขาย"หนังสือ บวก "ภาครัฐ" จะต้องขับเคลื่อนทั้งองคาพยพ



ขอบคุณ : ประชาชาติธุรกิจ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์