สำหรับแรงผลักดันกระตุ้นความตื่นตัวประการหนึ่ง คือ ‘การเตือนตนด้วยข้อความ’ โดยเขียนสรุปประโยคสั้น ๆ ลงกระดาษ แล้วนำไปติดไว้ในบริเวณที่เห็นได้ง่ายในบ้าน อย่าง กระจกแต่งตัว โต๊ะทำงาน หรือ ปฏิทิน เปรียบเหมือนสัญลักษณ์ติดตาม ช่วยเตือนถึงระยะเวลาที่กระชั้นชิดเข้ามาทุกขณะ
รวมทั้ง ‘เทคนิคพิชิตงานใหญ่’ บางครั้งเมื่อเกิดการรับรู้ว่าชีวิตกำลังจะได้รับบทหนักกับภารกิจไม่คุ้นเคย ยาก ขาดประสบการณ์ มักสร้างความตระหนกในความรู้สึก เกิดความวิตกกังวลต่าง ๆ นา ๆ กรณีนี้หลายคนบอกว่า การนำโจทย์มาแยกย่อยเป็นขั้นตอนทำงาน เริ่มตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนสิ้นสุด แล้วค่อย ๆ ดำเนินการให้ลุล่วงตามลำดับ นอกจากทำให้เห็นปัญหาได้ง่ายแก้ไขทันท่วงทีแล้ว ความสำเร็จที่ค่อย ๆ คลี่คลายทีละขั้นนั้น ยังช่วยสร้างความมั่นใจได้ดี
นอกจากนั้น อุปสรรคอย่างหนึ่ง คือ การถูกดึงดูดจากกิจกรรมอื่น ๆ ทั้งจากสภาพแวดล้อมที่ไม่สงบ ยากต่อการสร้างสมาธิจดจ่อ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้งานนั้น ๆ ชะงักกลางคันได้ง่าย จึง ‘ควรเลี่ยงออกจากสิ่งล่อตาล่อใจ’ เพื่อให้การโฟกัสเป้าหมายเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และราบรื่นขึ้น
ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่ง คือ เราไม่สามารถเข้าเส้นชัยตราบใดที่ยังยืนอยู่ที่จุดสตาร์ทไม่เคลื่อนตัว ความสำเร็จก็เช่นกันต้องลงมือคิดทำจึงจะบรรลุผล!.