ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมทุกวันนี้อาจดูแหว่งวิ่นไปบ้าง คนออฟฟิศเดียวกัน ยืนอยู่ใกล้ๆ กันอาจไม่ได้คุยกัน พ่อแม่ลูกอยู่บ้านเดียวกันก็อาจไม่ได้คุยกัน ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้เป็นเพราะส่วนหนึ่งของเวลาที่เรามีถูกย้ายไปทำการอยู่บน สังคมออนไลน์ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั่นเอง
เมื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น วันนี้เราจึงนำมารยาท และสิ่งที่ไม่ควรกระทำบนสังคมออนไลน์มาฝากกัน จะมีอะไรบ้างนั้น ไปติดตามกันเลยค่ะ
1.ไม่ควรโพสต์ภาพอาหารยั่วยวนใจบ่อยๆ
คนเล่นเฟซบุ๊กหลายคนอาจปฏิเสธว่าไม่จริง เราออกจะชอบดูภาพอาหาร ยิ่งหน้าตาชวนกินยิ่งชอบ แถมถ้าบอกร้านมาด้วยจะตามไปชิมเมนูที่โพสต์แน่ๆ แต่ก็อย่าลืมว่าในจำนวนเพื่อนในเฟซบุ๊กนั้นอาจมีคนที่กำลังลดน้ำหนัก เป็นเบาหวาน ความดันสูง โรคหัวใจ หรือถูกสั่งห้ามกินอาหารหน้าตาอร่อยๆ แบบที่คุณกำลังโพสต์ และภาพเหล่านั้นก็จะยิ่งบาดตาบาดใจพวกเขาจนพากันกด Like ให้ภาพของคุณไม่ได้
2.ไม่ควรกด Like พร่ำเพรื่อ
เพราะเพื่อนในเฟซบุ๊กมีหลายประเภท ทั้งเพื่อนที่ทำงาน เพื่อนชาวต่างชาติ เพื่อนสมัยเรียนประถม ที่จากกันไปนาน และเพิ่งมีโอกาสได้เจอกันอีกครั้ง หรือเพื่อนห่างๆ ที่แอดไว้ตั้งนานนมแล้วแต่ไม่ได้สานสัมพันธ์ใดๆ กันต่อ ดังนั้น การคลิก Like ไปทั่วกระทั่งในเรื่อง – ภาพของเพื่อนที่เราห่างเหินมานาน ไม่รู้ตื้นลึกหนาบางใดๆ ในชีวิตเขาในตอนนี้ ก็อาจถูกตีความว่าเราเสแสร้ง ไม่จริงใจได้
3.ไม่โพสต์เรื่องส่วนตัวบนวอลล์คนอื่น
มีช่องทางอีกมากสำหรับคนสองคนที่ต้องการจะสื่อสารเรื่องส่วนตัวของ กันและกัน ส่งแมสเซจก็ได้ ส่งเมลก็ได้ ส่ง SMS ก็ได้ คุยทาง MSN ก็ได้ แต่ไม่ใช่การมาโพสต์บนหน้าวอลล์ส่วนตัว เพราะเพื่อนๆ ของเจ้าของวอลล์คนนั้นจะร่วมรับรู้รับทราบทั้งหมด ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่ควรจะต้องมารู้ด้วยเลย และนั่นอาจไม่ดีต่อตัวคุณในที่สุดที่ดูเป็นคนไม่มีมารยาท
4.ไม่โพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับเซ็กซ์
ถ้าไม่นับแก๊งของหนุ่มๆ ในออฟฟิศบางแห่งที่นิยมแชร์ภาพสาวสวยกันแล้ว การที่คนเราจะโพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับเซ็กซ์ลงบนสังคมออนไลน์ก็อาจทำให้ เพื่อนๆ คนอื่นของคุณกระอักกระอ่วนใจได้ ยิ่งหากเป็นกิจกรรมทางเพศของตัวคุณเองด้วยแล้วยิ่งไม่เหมาะสมอย่างมาก
5.ไม่แท็กเรื่อยเปื่อย
อย่าอัปโหลดทุกภาพที่มีในกล้อง และควรพิจารณาองค์ประกอบในภาพนั้นก่อนว่าดีพอหรือไม่ที่จะโพสต์ออกไป นอกจากนั้น สาวๆ หลายคนอาจเลิกคบกับคุณแน่ๆ ถ้าคุณแท็กภาพที่คุณดูดีสุดๆ แต่เพื่อนสาวที่อยู่ในภาพไม่ได้ดูดีเท่า ดังนั้น หากมีภาพดังกล่าวอยู่ ลองถามตัวเองว่า ถ้าคุณเป็นคนที่กำลังทำหน้าตลกๆ หรือนั่งพุงย้อย คุณจะยังโพสต์ภาพนั้นให้สังคมออนไลน์ร่วมรับรู้หรือไม่
6.ไม่ใช้เฟซบุ๊กสะกดรอยคนอื่น
คนบางคนก็ใช้เฟซบุ๊กในการสืบทราบข่าวคราวความเป็นไปของคนอื่่น เช่น อดีตแฟน สาวคนใหม่ของอดีตแฟน คนที่เราแอบชอบ คนที่เราเกลียด คนที่มายุ่งกับแฟนเรา ซึ่งขอบอกว่าการแอบล้วงข้อมูลเหล่านี้เป็นการกระทำที่เสียเวลาและเสีย พลังงานมากทีเดียว
7.ไม่โพสต์ข้อความกล่าวร้ายคนอื่น
คนบางคนเลิกคบกันก็เพราะการโพสต์จิกกัดกันนี่เอง และควรจะเลิกคิดใช้เฟซบุ๊กโพสต์ข้อความกล่าวร้ายคนอื่นโดยเด็ดขาด เพราะข้อความที่คุณโพสต์จะเห็นกันได้ทั่วไป และอาจผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งคู่กรณีอาจฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากคุณได้ด้วย
8.ไม่ควรโพสต์เรื่องทุกอย่างรอบตัว
เพราะบางคนโพสต์ทุกเรื่องในชีวิตลงไปบนเฟซบุ๊ก ทั้งร้านอาหาร ครอบครัว เพื่อนฝูง จนเพื่อนๆ ในลิสต์รับทราบความเป็นไปของเธอตลอดเวลา แล้วแบบนี้จะเหลืออะไรไว้ให้คุยกันเมื่อยามพบหน้า ลองหยุดโพสต์ดูบ้างอาจทำให้ชีวิตของคุณน่าค้นหายิ่งขึ้น
9.ไม่โพสต์ภาพตัวเองถูกทำร้าย
ใครก็ตามที่กล้าโพสต์รูปตัวเองถูกทำร้ายลงบนโลกออนไลน์ รับรองว่า เป็นเรื่องกระหึ่มแน่นอน หรือแม้จะเป็นภาพอาการบาดเจ็บที่น่าหวาดเสียวก็เช่นเดียวกัน เช่น ภาพนิ้วถูกมีดบาดจะขาดมิขาดแหล่ ฯลฯ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่อยากจะเห็นภาพนั้น แม้ว่าเขาเห็นแล้วจะรู้สึกเสียใจ สลดใจไปกับคุณด้วยก็ตาม
10.ไม่โพสต์นินทาเจ้านายหรือที่ทำงาน
เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ไม่ควรทำ หากต้องการโพสต์จริงๆ ก็ตั้งกลุ่มลับเฉพาะกันไป อย่าโพสต์ออกมาในที่สาธารณะและเพื่อนๆ ในลิสต์ทุกคนสามารถรับรู้ได้ เพราะมันจะไม่ดีต่อตัวคุณและต่อองค์กรที่ทำงานอยู่ รวมถึงเจ้านายในอนาคตของคุณด้วย เพราะเจ้านายเดี๋ยวนี้ก็เช็กประวัติคนที่จะรับเข้าทำงานจากเฟซบุ๊กกันบ้าง แล้วเช่นกัน
ทั้งหมดนี้จึงอาจเป็นรูปแบบการใช้งานที่ควรหลีกเลี่ยง หรือเลือกใช้ให้เหมาะสมสำหรับท่านที่ต้องการมีตัวตนอยู่บนสังคมออนไลน์อย่าง ปลอดภัยนั่นเอง