ตะคริว เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในนักกีฬาและบ่อยครั้งที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว ในระหว่างการแข่งขัน ทำให้ต้องออกจากการแข่งขันกลางคันเพราะกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริว จะมีอาการหดตัวโดยไม่สามารถบังคับด้วยอำนาจจิตใจ (involuntary) ทำให้เกิดอาการปวดเกร็งและขยับไม่ได้
ตะคริวที่อาจเกิดแบ่งได้ 2 ชนิด คือ
1. แบบ tonic เป็นชนิดที่พบได้บ่อย กล้ามเนื้อจะมีการเกร็งอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
2. แบบ clonic กล้ามเนื้อจะมีการหดตัวสลับกับการคลายตัวเป็นช่วงสั้น ๆ สลับกันไปอย่างรวดเร็ว
ถึงแม้ว่า…ตะคริวจะเป็นปัญหาคู่กับการเล่นกีฬามาช้านาน แต่ถ้าถามถึงสาเหตุของการเกิดตะคริวแล้ว คงจะมีน้อยคนที่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจน เพราะโดยประสบการณ์ของนักกีฬา โค้ช หรือแพทย์สนาม ส่วนใหญ่แล้วจะมีความเห็นตรงกันว่า บ่อยครั้งที่ตะคริวเกิดขึ้นกับนักกีฬาที่มีความสมบูรณ์ มีความพร้อมในการเล่น โดยที่ไม่มีอาการแสดงที่ผิดปกติให้สังเกตหรือเป็นที่สงสัยมาก่อน ด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถระบุสาเหตุได้แน่นอน อย่างไรก็ตามเป็นที่เชื่อกันว่า ปัจจัยที่จะกล่าวต่อไปนี้อาจเป็นสาเหตุหรือปัจจัยส่งเสริมให้เกิดตะคริวขึ้น ได้แก่
1. การขาดเกลือแร่และอิเลคโตรไลด์ (Electrolyte) ซึ่งเป็นจากการสูญเสียทางเหงื่อ ระหว่างการเล่นกีฬา
2. การเปลี่ยนแปลงของอุณภูมิร่างกายทันที จากร้อนเป็นเย็น หรือในทางที่กลับกัน
3. การที่กล้ามเนื้อขาดเลือดหล่อเลี้ยง ซึ่งอาจเกิดจากการใส่เสื้อผ้าหรืออุปกรณ์ไม่เหมาะสม เช่น กางเกงกีฬาที่มีขอบขากางเกงรัดมาก ทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงขาและเท้าลดลง กล้ามเนื้อขาดออกซิเจน และมีการคั่งของของเสีย และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกล้ามเนื้อจึงเกิดตะคริวขึ้น นอกจากนั้นกล้ามเนื้อที่ถูกใช้งานจะล้า (Over fatigue) ก็มีโอกาสเกิดตะคริวได้ง่าย
นอกจากปัจจัยเหล่านี้แล้ว การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อระหว่างการเล่นกีฬา เช่น ถูกกระแทกโดยตรงที่มัดกล้ามเนื้อ จะทำให้กล้ามเนื้อมีการหดเกร็งซึ่งทำให้เกิดตะคริวได้
การป้องกันตะคริวแบบง่าย ๆ
- ก่อนออกกำลังกายควรมีการยืดกล้ามเนื้อก่อนทุกครั้ง อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ สังเกตง่าย ๆ คือ ดูสีน้ำปัสสาวะถ้ายังเข้มเหลือง โอกาสที่คุณลงเล่นกีฬาอะไรก็ตามจะเป็นตะคริวมีสูง
- อย่าใช้อะไรรัดให้แน่นมากไป เช่น ใส่กางเกงขารัดมากไปเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ
- สูดหายใจเข้าลึก ๆ เพื่อให้ร่างกายได้รับออกซิเจนได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย