กินโปรตีนหนัก เพิ่มภาระตับ-ไต
ก่อนอื่น มาทำความรู้จักโปรตีนกันให้ดีก่อนค่ะ โปรตีน เป็นสารอินทรีย์ ซึ่งเป็นโพลิเมอร์สายยาวของกรดอะมิโน ในแง่โภชนาการ โปรตีนเป็นสารอาหารที่ให้พลังงาน
โดยโปรตีน 1 กรัม ให้พลังงาน 4 แคลอรี และถือเป็นส่วนประกอบของร่างกายที่มีปริมาณมากเป็นอันดับสองรองจากน้ำ โดยเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของเซลล์ในสิ่งมีชีวิต เช่น เอนไซม์ (enzyme) และฮอร์โมน อย่างไรก็ตาม โปรตีนจำเป็นต่อการดำรงชีวิต การเจริญเติบโต และการเสริมสร้างเนื้อเยื่อส่วนที่สึกหรอของมนุษย์และสัตว์ เมื่อรับประทานอาหารที่มีโปรตีนเข้าไป ร่างกายจะย่อยสลายโปรตีนได้ออกมาเป็นกรดอะมิโน และกรดอะมิโนที่ได้นี้ ร่างกายจะนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ ดังนี้…
- สังเคราะห์โปรตีนต่างๆ ขึ้นใหม่ตามที่ร่างกายต้องการ เช่น สร้างกล้ามเนื้อ โครงกระดูก
- สังเคราะห์สารอื่น เช่น เป็นตัวตั้งต้นของการสร้างสารส่งสัญญาณประสาท (Neurotransmitter) สังเคราะห์ฮอร์โมนธัยรอกซิน (Thyroxine) และเอนไซม์ เป็นต้น
- เป็นสารตั้งต้นหรือตัวกลางในการสังเคราะห์กรดอะมิโนตัวอื่นๆ
- ช่วยเพิ่มการสะสมไกลโคเจนและไขมัน
- สร้างกลูโคสในยามที่ร่างกายขาดแคลน
- ให้พลังงานแก่ร่างกาย เมื่อร่างกายขาดคาร์โบไฮเดรตและไขมัน
ส่วนแหล่งอาหารที่มีโปรตีนสำคัญ ได้แก่ เนื้อสัตว์ นม ไข่ ถั่วต่างๆ เช่น ถั่วเหลือง เมล็ดธัญพืช นอกจากนี้ จุลินทรีย์ เช่น ยีสต์ สาหร่าย เห็ด หรือ หนอน แมลงที่กินได้ ก็เป็นแหล่งของโปรตีนที่ดีเช่นกันคะ
นอกจากนี้ โปรตีนนั้นจัดเป็นสารอาหารจำเป็นที่ร่างกายต้องได้รับจากในปริมาณโปรตีนที่เหมาะสม และจะต้องเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพ สำหรับด้านปริมาณ หมายถึง ร่างกายควรได้โปรตีนจากอาหารประมาณ 1 กรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อวัน ในกรณีของหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เด็กทารก ผู้ป่วย คนชรา ควรได้รับปริมาณโปรตีนเพิ่มขึ้น ส่วนด้านคุณภาพ หมายถึง ร่างกายจะต้องได้รับโปรตีนที่มีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วนในสัดส่วนที่พอเหมาะ โปรตีนจากนม ไข่ ปลา และเนื้อสัตว์ มีกรดอะมิโนทุกกลุ่มในสัดส่วนที่ดี ถือว่ามีคุณภาพสูง
แม้เราจะทราบกันว่า แหล่งโปรตีนที่ดีมาจากนม ไข่ ปลา และเนื้อสัตว์ แต่หลายๆกระแส มักแนะให้เลี่ยงบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เป็นเพราะเกรงว่า เราอาจจะได้รับไขมันที่อยู่ในนม ไข่ เนื้อสัตว์ที่มากเกินความพอดี ดังนั้น ทางที่ดีควรทานโปรตีนที่มีไขมันต่ำกัน อย่าง นมไขมันต่ำ หรือเนื้อปลา เนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมันก็ได้
ถึงตอนนี้ มาดูกันคะว่าการกินโปรตีนมากๆ จะมีผลอย่างไรต่อร่างกาย แน่นอนว่าทุกๆ อย่างต้องการความพอดี การทานโปรตีนมากเกินไปจึงเกิดผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน โดยจะทำให้กรดอะมิโนในเลือดสูง ตับจะต้องทำงานหนักในการทำลายโปรตีนที่เกิน ไตก็ต้องทำงานหนักในการขับถ่ายกรดยูเรียออกมา อาหารโปรตีนสูงจึงไม่เหมาะกับคนที่ไตเสื่อม-ไตวาย เนื่องจากจะทำให้ไตต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อขับถ่ายของเสียจากโปรตีนในรูปไนโตรเจน-ฟอสฟอรัสที่มีฤทธิ์เป็นกรดมากขึ้น
ในเด็กถ้ากรดอะมิโนสูงขึ้นเรื่อยๆ จะทำลายประสาทหู และประสาทสมอง โดยเฉพาะถ้ากินโปรตีนสูงเกิน 4 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน
ในผู้ใหญ่ก็เช่นกัน ถ้ากินมากๆ ประมาณวันละ 2-3 กรัมต่อน้ำหนักตัวต่อวัน โดยกินมากติดๆ กัน 3-4 วัน จะรู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน กระวนกระวาย กระหายน้ำมาก และยังสามารถดูตัวอย่างได้จากชาวอเมริกันที่นิยมทานโปรตีนวันละ 100 กว่ากรัม ก็จะมีปัญหาในเรื่องการเสื่อมสภาพของเซลล์ และกระดูกกร่อน
ในทางตรงกันข้ามหากทานโปรตีนในปริมาณที่น้อยกว่าความต้องการ จะส่งผลต่อร่างกายมากมาย คือ ทำให้การเจริญเติบโตช้า อ่อนเพลีย การสั่งการของสมองช้ากว่าปกติ ขาดตัวตั้งต้นของการสร้างสารส่งสัญญาณประสาท และการสังเคราะห์ฮอร์โมนธัยรอกซิน รวมถึงเอนไซม์ อีกทั้งร่างกายจะมีความต้านทานโรคต่ำ และเกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย เช่น โรคควาชิออร์กอร์ (Kwashiorkor) มักเกิดกับเด็กที่หย่านมใหม่ๆ แล้วไม่ได้รับโปรตีนตั้งแต่อายุยังน้อยๆ พบมากในอายุ 1- 4 ปี เป็นแล้วจะมีอาการบวมไปตามแขน ขา ผมเปลี่ยนสี แห้งและเปราะ ไม่มีกล้ามเนื้อ ถ้ารุนแรงจะมีน้ำคั่งอยู่ในช่องท้อง พุงโร มึนซม ตับโต
และอีกโรคที่เสี่ยงป่วย คือ โรคมารามัส (Marasmus) มักเกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี มีลักษณะผอมแห้ง ไม่มีกล้ามเนื้อ ผิวหนังเหี่ยวย่นคล้ายคนแก่ โรคนี้มักจะเกิดร่วมกับโรคควาชิออร์กอร์ จึงเรียกว่า มาราส มิก ควาชิออกอร์
ยังมีนักวิจัยจาก British Heart Foundation ประเทศอังกฤษ ศึกษาพบว่า แม่ตั้งครรภ์ที่ทานโปรตีนน้อย อาจส่งผลต่อการเกิดโรคเบาหวานของลูกเมื่อโตขึ้นได้อีกด้วยนะคะ
มากไปก็ไม่ดี น้อยจนเกินความพอดีก็อันตราย ดังนั้นควรยึดทางสายกลางกันไว้นะคะ อยากมีสุขภาพที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย จึงควรใส่ใจสิ่งที่เราจะทานเข้าไปกันสักนิดนะคะ อย่าลืมประโยคสำคัญที่ว่า You are what you eat กันล่ะ