แล้วเราจะหั่นเนื้อบนฝารองนั่งชักโครกได้หรือไม่?
ดร.เกอร์บากล่าวว่า มันอาจจะปลอดภัยกว่าก็จริง แต่มันก็เป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำและไม่มีเหตุผลที่จะทำ สิ่งที่ดีที่สุดคือ การดูแลรักษาความสะอาดเขียง เช่นเดียวกับที่ทำความสะอาดฝารองนั่งชักโครก
ความเชื่อและการรับรู้ว่าฝารองนั่งเป็นสิ่งสะสมเชื้อโรคมากที่สุดนี่เอง ที่ทำให้มันได้รับการทำความสะอาดบ่อยครั้ง และการกระทำเช่นนี้ เราเองก็ควรนำไปใช้กับเขียงเช่นกัน
แต่รู้หรือไม่ว่าผู้ร้ายด้านความสกปรกที่สุดในบ้านตัวจริงก็คือฟองน้ำล้างจานหรือผ้าเช็ดจาน
ตามข้อมูลของดร.เกอร์บาในแต่ละตารางนิ้วของฟองน้ำล้างจานมีจำนวนแบคทีเรียอยู่ถึง 10 ล้านตัว หรือมากกว่าฝารองนั่งชักโครกถึง 200,000 เท่า และมากกว่าผ้าเช็ดจาน ที่มีแบคทีเรียราว 1 ล้านตัว ถึง 20,000 เท่า
ดร.จอห์น อ็อกซ์ฟอร์ด ศาสตราจารย์ด้านไวรัสวิทยา มหาวิทยาลัยลอนดอน
และประธานองค์กรไฮยีน เคาน์ซิล องค์กรนานาชาติที่ทำหน้าที่ตรวจสอบมาตรฐานด้านสุขอนามัยทั่วโลก เปิดเผยว่า สิ่งที่ยังคงรักษาแชมป์ความสกปรกที่สุดในครัวก็คือ ฟองน้ำล้างจาน ผลการศึกษาล่าสุดโดยสถาบันดังกล่าว ที่ศึกษาตัวอย่างที่เก็บได้ในบ้านหลายแห่งใน 9 ประเทศทั่วโลก พบว่า ผ้าเช็ดจาน"ที่ดูเหมือนสะอาด" แท้จริงแล้วมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคในระดับสูง เมื่อนำไปทดสอบเพื่อหาเชื้ออีโคไล ก็พบว่ามีในปริมาณมากเช่นกัน
ผลการศึกษา ยังระบุถึงเชื้อโรคจากอุจจาระในสถานที่ต่างๆรอบบ้าน โดยที่ซาอุดิอาระเบีย พบว่าตู้เย็นมีความสกปรกที่สุด โดยกว่า 95% ของตู้เย็นที่ทำการศึกษา ไม่ผ่านการทดสอบด้านแบคทีเรียวิทยาสำหรับเชื้ออีโคไล และในแอฟริกาใต้ ข้าวของที่สกปรกที่สุดคือจุกกันน้ำรั่วในอ่างอาบน้ำ โดยกว่า 2 ใน 3 อยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจเมื่อทดสอบหาเชื้ออีโคไล ขณะที่กว่า 40% พบว่าขึ้นรา
ดร.อ็อกซ์ฟอร์ดกล่าวว่า ในออสเตรเลียและแคนาดา พบว่าเครื่องใช้หลายอย่างผ่านมาตรฐานด้านสุขลักษณะ ขณะที่ในประเทศที่อยู่ใระดับต่ำ หรือแค่พอใช้ได้ ได้แก่ อินเดียและมาเลเซีย
เขาเผยว่า ส่วนในสถานที่ทำงานที่เราคิดว่าปลอดภัยนั้น แท้จริงอาจไม่เป็นอย่างที่คิด โดยเฉพาะโทรศัพท์ที่ไม่ค่อยมีใครทำความสะอาด และหน้าจอคอมพิวเตอร์ ที่โดยเฉลี่ยมีแบคทีเรียมากกว่าฝารองนั่งชัดโครกถึง 400 เท่า
แม้แต่ในซูเปอร์มาร์เก็ตก็ไม่เว้น ดร.เกอร์บาเกล่าวว่า โดยเฉพาะรถเข็นช็อปปิงที่ผ่านมือผู้ใช้ครั้งแล้วครั้งเล่า มากกว่าครึ่งมีแบคทีเรียร้ายซ่อนตัวอยู่เป็นจำนวนมาก และหลายคนอาจไม่ทราบว่าในถุงช็อปปิงนั้น อาจมีเชื้อโรคมากกว่าชุดชั้นในของตนเสียอีก
ดร.อ็อกซ์ฟอร์ดกล่าวว่า เชื้ออีโคไล อาจไม่ได้เป็นตัวก่อให้เกิดโรคโดยตรง แต่มันทำหน้าที่บ่งชี้ว่ามีเชื้อโรคอันตรายอยู่โดยรอบ และอาจเป็นปัจจัยนำพาเชื้อโรคประเภทอื่น อาทิ ซัลโมเนลลา และชิเกลลา เราอาจสัมผัสเชื้้อโรคอันตรายเหล่านี้ทุกวัน แต่หลายคนก็ไม่ได้เกิดการล้มป่วย ร่างการมนุษย์รู้จักการปรับตัวและสร้างภูมิคุ้มกัน แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่า เราจะรอดจากเชื้อโรคที่เราไม่รู้จักได้ตลอดไป ทางที่ดี คือการรู้เท่าทันและการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม