แม้ว่าในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 17 หรือ COP 17 ที่เมืองเดอร์บัน สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ เมื่อปลายปีที่แล้ว จะยังไม่มีข้อยุติเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก เลยต้องมาหารือกันต่อในการประชุมครั้งที่ 18 ซึ่งกำลังจะเริ่มต้นที่เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ทำให้เกิดความกังวลว่าให้เป้าหมายที่จะประคับประคองอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไมให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส (เมื่อเทียบกับอุณหภูมิของโลกในยุคก่อนอุตสาหกรรม ฯลฯ) เป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น…
เนื่องจากที่ผ่านมา แต่ละประเทศต่างเสนอเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกกันโดยอิสระ และเมื่อนำตัวเลขเป้าหมายทั้งหมดมารวมกัน อุณหภูมิโลกก็ยังคงเพิ่มสูงขึ้นกว่า 2 องศาเซลเซียสอยู่ดี ถ้าหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ โลกเราก็เสี่ยงที่จะเข้าสู่ขั้นวิกฤติ และจะเกิดภัยธรรมชาติอย่างรุนแรง ทั้งความแห้งแล้ง อุทกภัย พายุ และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรโลกหลายสิบล้านคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ถึงกระนั้นก็ยังมีความพยายามจากหลายๆ ฝ่ายในการคิดหาหนทางรับมือและต่อกรกับปัญหาโลกร้อน โดยไม่นั่งรอให้ข้อตกลงเรื่องก๊าซเรือนกระจกฉบับใหม่ซึ่งจะมีข้อผูกพันทางกฎหมาย มีผลบังคับใช้ (ปี ค.ศ. 2020 หรือ พ.ศ. 2563)… และ 5 ไอเดียต่อไปนี้ก็คือแนวคิดเด็ดๆ ในการรับมือโลกร้อนแบบ “วิศวกรรมดาวเคราะห์” หรือ “Geoengineering” ที่เคยถูกนำเสนอหรือหยิบยกมาพิจารณา แต่หลายไอเดียที่ว่าไม่อาจนำมาใช้ในทางปฏิบัติ เนื่องจากได้ไม่คุ้มเสีย ต้องใช้งบประมาณมหาศาล ทั้งยังส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในวงกว้างอีกด้วย