คยได้ยินสิงห์อมควันหลายคนบอกว่า หากคิดอะไรไม่ออก พวกเขาจะขอเวลานอกไปสูบบุหรี่เพื่อผ่อนคลาย ทว่านับจากนี้ไป พวกเขาอาจต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ เพราะล่าสุด มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
เปิดเผยถึงผลวิจัยจากคิงส์คอลเลจ ลอนดอน ซึ่งถูกตีพิมพ์ในวารสารเจอร์นอลเอจ แอนด์ เอจจิ้ง รายงานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า การสูบบุหรี่ส่งผลเสียต่อความจำ การเรียนรู้ และความสามารถด้านการวิเคราะห์ของสมอง
คณะผู้วิจัยมีการติดตามกลุ่มตัวอย่าง อายุมากกว่า 50 ปี จำนวน 8,800 คน ในทุกๆ สี่ปีและแปดปี ด้วยการทดสอบสมรรถภาพของสมอง เช่น ความจำ การเรียนรู้คำใหม่ๆ หรือการให้บอกชื่อสัตว์ให้ได้มากที่สุดภายในเวลาหนึ่งนาที ผลวิจัยแสดงให้เห็นว่า ตัวแปรที่ทำให้สมรรถภาพของสมองลดลงอย่างมีนัยสำคัญ คือ การสูบบุหรี่มีผลมากที่สุด รองลงมาคือ ความดันโลหิตสูง และน้ำหนักตัวเกิน ดังนั้น คณะผู้วิจัยจึงสรุปว่า ตัวแปรเหล่านี้ แต่เดิมมักรับรู้กันว่าไม่ดีต่อหัวใจ คือ ทำให้เกิดโรคหัวใจ แต่งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่า ไม่ดีต่อสมองด้วย
ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า งานวิจัยนี้ยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า การสูบบุหรี่ส่งผลต่อการเสื่อมหรือแก่ของอวัยวะทั่วร่างกาย โดยไม่มีข้อยกเว้น เนื่องจากสารพิษและสารแปลกปลอมนับร้อยชนิดในควันบุหรี่ จะถูกกระแสเลือดพาไปสัมผัสและทำอันตรายต่อทุกอวัยวะ ที่เราเห็นได้ชัด คือ ผิวหนังและใบหน้าที่เหี่ยวย่นเกิดจากการที่คอลลาเจนใต้ผิวหนังถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระ และอวัยวะ เช่น ปอดที่ถุงลมถูกทำลายจนเป็นโรคถุงลมปอดพอง ในขณะที่เส้นเลือดทั่วร่างกายก็เกิดการแข็งตัว และรูเส้นเลือดค่อยๆ ตีบตัน การสูบบุหรี่จึงไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการเสื่อมของร่างกายทางกายภาพเท่านั้น งานวิจัยของคิงส์คอลเลจยังแสดงว่า พิษภัยของบุหรี่ยังทำให้ระดับสติปัญญาของสมองลดลงด้วย ทางที่ดีที่สุดจึงควรเลิกสูบบุหรี่ไม่ว่าจะมีอายุเท่าไรก็ตาม
เมื่อบุหรี่ไม่มีดีดังที่เล่าไว้นั้น สิงห์อมควันก็น่าจะลด ละ เลิกกันได้แล้ว.