คนที่เดินทางไปท่องเที่ยวญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกอาจรู้สึกแปลกใจ เมื่อได้เห็นผู้คนโดยเฉพาะวัยรุ่นสวมหน้ากากอนามัยโดยทั่วไปตามพื้นที่สาธารณะ เหตุผลทั่วไปที่คนสวมใส่หน้ากากอนามัยเพราะต้องการป้องกันไม่ให้เชื้อโรคจากร่างกายแพร่กระจายออกไป แต่ที่ญี่ปุ่น คนที่นี่กลับสวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อหลบซ่อนตัวตนจากสายตาคนรอบข้าง
“แฟชั่นหน้ากากอนามัย” ระบาดหนักในประเทศญี่ปุ่น! สะท้อนสังคมกำลังป่วย?
เมื่อเดือน มี.ค.ปีที่แล้ว สำนักข่าวออนไลน์นิวส์โพสต์เซเว่น (News Post Seven) ได้สำรวจบุคคลที่สวมใส่หน้ากากอนามัยจำนวน 100 คน ในย่านชิบูย่า ซึ่งเป็นย่านแฟชั่นของญี่ปุ่น พบว่าประมาณร้อยละ 30 ของผู้สวมใส่หน้ากากอนามันไม่ได้มีอาการเจ็บป่วยหรือภูมิแพ้แต่อย่างใด และเมื่อเร็ว ๆ นี้ "ซิปส์" (ZIP!) สถานีโทรทัศน์ของญี่ปุ่น ได้นำเสนอประเด็นของวัยรุ่นชายหญิงที่นิยมแฟชั่นหน้ากากอนามัย โดยพบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 14 เท่า หลังจากตัวเลขอ้างอิงของนิวโพส์เซเว่นท์เพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น
ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำด้านอุตสาหกรรมแฟชั่นของโลก และกระแสความนิยมสวมใส่หน้ากากอนามัยของญี่ปุ่นเป็นที่นิยมมาระยะหนึ่ง จากข้อมูลการสำรวจเหตุผล 5 ประการที่พบ ได้แก่ 1.ปกปิดใบหน้าเวลาที่ไม่ได้ใช้เครื่องสำอาง 2.ทำให้ใบหน้าอุ่นขึ้น 3.เพื่อให้หน้าดูเรียว 4.สวมใส่เพราะรู้สึกสบาย 5.ไม่ให้คอแห้งขณะงีบหลับ
ข้อมูลจากเว็บไซต์ “Naver Matome” ระบุว่า ผู้หญิงบางคนไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยเพียงเพราะไม่ได้แต่งหน้ามาเท่านั้น แต่ยังมีความเชื่อว่าทำให้ดูมีเสน่ห์ จึงเป็นเหตุผลให้บริษัทหลายแห่งจัดแฟชั่นโชว์หน้ากากอนามัย และผลิตหน้ากากอนามัยที่มีรูปแบบสีสันต่าง ๆ จากนักออกแบบหน้ากากอนามัยโดยเฉพาะ
เริ่มมีการพูดถึงกระแสแฟชั่นสุดประหลาดอย่างจริงจังในสังคมญี่ปุ่น ข้อมูลจากหนังสือ “Date Mask Ozonshou” โดย ยูโซ คิคุโมโต ได้ตั้งข้อสังเกตในเชิงจิตวิทยาว่า เด็กญี่ปุ่นจำนวนมากสวมใส่หน้ากากอนามัยเพราะไม่ต้องการเป็นจุดเด่นในสายตาของคนอื่น รวมถึงไม่ต้องการเปิดเผยตัวตน อำนาจอันทรงพลังของแฟชั่น “ปิดบังใบหน้าแบบแพทย์” ทำให้ผู้คนรู้สึกคุ้นเคยมากขึ้น ไม่ต่างอะไรกับการส่งข้อความผ่านอีเมลล์หรือโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่ไม่ต้องพบเจอหรือสัมผัสตัวกันโดยตรง
การปกปิดใบหน้าของวัยรุ่นญี่ปุ่นอาจสอดคล้องกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่น โดยเฉพาะสังคมของซามูไร ที่เน้นการยกย่องภายในกลุ่ม เด็กนักเรีนยญี่ปุ่นทุกวันนี้ถึงขั้นยอมตอบคำถามให้ผิดเวลาที่ถูกครูเรียกตอบในชั้นเรียน เพราะไม่ต้องการให้เป็นจุดเด่นหรือดูโดดเด่นมากกว่าเพื่อนในชั้น เพราะนั่นหมายถึงการไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนฝูงหรือสังคม