ประโยชน์ของ'วิตามินดี'ตามที่ท่องจำมาคือ ช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง แล้วจะเป็นอย่างไรเมื่อเด็กไทยอยู่ในภาวะขาดวิตามินดี
พ่อแม่รวมถึงตัวเด็กเองด้วยที่ห่วงสวยห่วงงาม กลัวผิวคล้ำหรือผิวดำ จึงกำชับให้ลูกรักต้องเล่นอยู่ในร่ม ห้ามออกแดด เลือกโรงเรียนที่มีโรงพละในร่มหรือติดแอร์ด้วยก็ยิ่งดี ส่วนเวลาออกบ้านไปโรงเรียนก็เช้าตรู่ เด็กส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับแสงแดดหรือมีโอกาสน้อยมากในการรับแสงแดด ส่งผลให้ร่างกายขาดวิตามินดี หรือได้รับในปริมาณน้อยกว่าความต้องการของร่างกาย
เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ที่มักหลีกเลี่ยงการถูกแดด และทาครีมกันแดด มากจนเกินไป หรือทำงานอยู่ในตึกตั้งแต่เช้าจรดค่ำมืด ทำให้ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์รังสีอัลตราไวโอเลตบี (UVB) จากแสงแดด รวมถึงตามธรรมชาติแล้วอาหารที่อุดุมด้วยวิตามินดีนั้นหาได้ยากมาก เมื่อเทียบกับวิตามินชนิดอื่น
ผศ.นิภา โรจน์รุ่งวศินกุล หัวหน้าโครงการสำรวจภาวะโภชนาการการและสุขภาพเด็กในภูมิภาคอาเซียน และ นักวิจัยสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา เคยมีนักวิจัยสำรวจภาวะขาดวิตามินดีในเด็กโตและในวัยผู้ใหญ่ ยังไม่พบว่ามีปัญหาหรือมีแนวโน้มว่าว่าจะเกิดภาวะพร่องวิตามินดี แต่ในปัจจุบัน การศึกษาภายใต้โครงการ SEANUTS ถือเป็นครั้งแรกที่พบว่า เด็กเล็กขาดวิตามินดีในจำนวนที่สูง และสามารถสันนิษฐานได้ว่าอนาคตผู้ใหญ่ก็จะมีแนวโน้นการขาดวิตามินดีที่สูงขึ้นเช่นกัน
แม้ว่าภาวะพร่องวิตามินดีจะไม่ปรากฏอาการเฉพาะของโรค แต่ด้วยบทบาทหน้าที่ของวิตามินดีที่ช่วยเสริมการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย เพิ่มภูมิคุ้มกันต้านทานโรค คนที่ขาดวิตามินดีจึงเสี่ยงต่อโรคกระดูกโปร่งบางหรือกระดูกผุ มีโอกาสที่กระดูกจะหักง่ายเมื่อล้ม อีกทั้งเพิ่มเสี่ยงมะเร็ง เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม ฯลฯ ส่วนภูมิต้านทานโรคลดลงจึงเสี่ยงโรคติดเชื้อ เช่น วัณโรค ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ (ถ้าได้รับมากพออาจลดเสี่ยงได้ถึง 40%) และโรคเบาหวานชนิดที่ 1ดังนั้น ต้องมีการปรับพฤติกรรม โดยโรงเรียนควรปรับวิธีการเรียนพลศึกษาให้เป็นกลางแจ้งมากขึ้น เพราะที่ผ่านมามีวิชาเรียนอาทิตย์ละ 1 คาบเรียน แต่ก็ยังเรียนในร่มอีก ส่วนพ่อ แม่ ผู้ปกครองต้องให้ลูกออกมาทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น พาออกมาสนามหญ้า ออกมาวิ่งเล่นนอกบ้านบ้างเพื่อให้ได้รับแสงแดดที่เพียงพอต่อความต้องการ โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมคือช่วงเช้า หรือช่วงที่มีแดด อ่อนๆ” ผศ.นิภา ให้คำแนะนำ
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ทำโครงการสำรวจภาวะโภชนาการและพัฒนาการของเด็กไทย อายุตั้งแต่ 6 เดือน - 12 ขวบ ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการสำรวจภาวะโภชนาการและสุขภาพเด็กในภูมิภาคอาเซียน (The South East Asia Nutrition Survey; SEANUTS) โดยศึกษาร่วมกัน 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย เวียดนามและอินโดนีเซีย โดยในส่วนของประเทศไทยได้เก็บตัวอย่าง 3,100 คน ตั้งแต่ ม.ค. 2554 - ก.ค. 2555 ว่า ทั้งประเทศไทยและมาเลเซียภาวะขาดสารอาหารในเด็กน้อยลงเหลือไม่ถึง 10 % แต่กลับพบอัตราเด็กเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้น ส่วนเวียดนามและอินโดนีเซียกลับพบปัญหาเด็กผอม ขาดสารอาหารมากขึ้น
ผลสำรวจยังพบว่า ทั้งสี่ประเทศนี้ต่างพบเด็กมีภาวะพร่องวิตามินดีในปริมาณมากที่ใกล้เคียงกัน
เปิดใจ-กายรับวิตามินดี
1.รับแสงแดดอ่อน (ก่อน 9.00 น. หรือหลัง 16.00 น.) 15 นาทีต่อวัน สวมเสื้อแขนสั้นหรือกางเกงขาสั้นเมื่อออกไปรับแสงแดดอ่อน และไม่ทาครีมกันแดด
2. ระวังอย่าให้น้ำหนักเกินหรืออ้วน วิตามินนี้ละลายในน้ำมัน เมื่อไขมันในร่างกายมีมากขึ้นจะทำให้วิตามินสูญเสียไปกับการละลายในเนื้อเยื่อไขมันมากขึ้น จึงเหลือที่ใช้งานได้น้อยลง
3. กินอาหารที่มีวิตามินดีโดยเฉพาะอาหารทะเล นมเสริมวิตามินดีพร้อมอาหารไขมันต่ำ
4. ไม่ใช้สบู่มากเกิน ไม่ถูสบู่นานและหลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่น-แช่น้ำอุ่น ซึ่งทำให้การสังเคราะห์วิตามินดีที่ผิวหนังลดลง
5. ดูแลสุขภาพตับและไตให้แข็งแรง (วิตามินดีต้องผ่านการแปรรูป 2 ครั้ง ที่ตับและไต จึงจะออกฤทธิ์ได้เต็มที่)
6. การกินวิตามินรวมที่มีวิตามินดี (ไม่จำเป็นต้องแพง) วันละ 1-2 เม็ดพร้อมอาหารไขมันต่ำ เป็นทางเลือกที่น่าจะดีทางหนึ่ง