อาหารในโรงเรียนตกมาตรฐาน ทำเด็กไทยไม่ทันเพื่อนบ้าน
นักวิชาการเรียกร้องให้ทบทวนยกเครื่องใหม่นโยบายอาหารในโรงเรียน ยันงบประมาณ 13 บาทยังไม่พอซื้อวัตถุดิบ
รศ.พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เผยในเวทีวิชาการ “อาหารในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนของเด็กไทย คุณภาพความปลอดภัยใครกำหนด” จัดโดย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ภายในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2555 ครั้งที่ 5 เมื่อเร็วๆ นี้ ว่าปัญหาโภชนาการที่สำคัญของเด็กไทยมีทั้งการขาดสารอาหารและการบริโภคเกิน ทั้งการขาดสารไอโอดีนและเป็นโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก และโรคอ้วนล้วนมีผลต่อปัญหาพัฒนาการของเด็กไทย และปัญหาสุขภาพ และยังมีผลต่อไอคิวของเด็กไทยซึ่งถือว่าต่ำกว่ามาตรฐาน และต่ำกว่าประเทศอื่นๆในทวีปเอเซีย การได้รับอาหารอย่างเพียงพอเหมาะสมจากโรงเรียนจึงมีส่วนสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหา
ด้าน อาจารย์อุไร อิศรางกูร ณ อยุธยา อาจารย์จากโรงเรียนสวนส้มจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า เป็นการยากที่จะให้โรงเรียนจัดอาหารตามมาตรฐานได้ แม้ว่าจะพยายามบริหารจัดการอย่างดีที่สุดแล้ว แต่งบประมาณ 13 บาทต่อวันที่ได้รับนั้นไม่เหมาะสมกับความเป็นจริงในปัจจุบัน โรงเรียนไม่สามารถจัดให้เด็กได้ทานอาหารที่มีคุณภาพได้แค่ค่าวัตถุดิบก็ยังไม่พอ แต่ทางโรงเรียนยังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนค่าแรงแม่ครัว ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าใช้จ่ายอื่นๆ และหากจะให้มีแม่ครัวที่มีคุณภาพมีความรู้ทางโภชนาการพอก็คงต้องมีการลงทุนมากกว่านี้
นายสาธิต กลิ่นภักดี ท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากประสบการณ์ของจังหวัดภูเก็ต แสดงให้เห็นว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาคุณภาพอาหารกลางวันในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียน โดยการทำงานเป็นเครือข่ายกับภาคส่วนอื่นๆ เช่นกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ต้องสร้างความตระหนักของผู้เกี่ยวข้องและเร่งพัฒนามาตรฐานศูนย์เด็กและโรงเรียน โดยเฉพาะเมนูกลางที่เป็นมาตรฐาน พัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ทางโภชนาการ และมีการตรวจประเมินอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถสมทบงบประมาณค่าอาหารเพิ่มเติมได้ ตามบริบทของพื้นที่
น.พ. ธีรพล โตพันธานนท์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่ากรมอนามัยพร้อมทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการสนับสนุนด้านวิชาการ ผ่านทางสื่อนวัตกรรมของกรม การอบรมเพื่อให้บุคลกรที่เกี่ยวข้องมีความรู้และมีการประเมินพัฒนาการของเด็ก รวมทั้งการบูรณาการความรู้ด้านโภชนาการในหลักสูตรการเรียนการสอนและการจัดอาหารเสริมที่มีความจำเป็นแก่เด็กกลุ่มเสี่ยงเช่น ยาเสริมธาตุเหล็ก โดยมีเป้าหมายให้โรงเรียนสามารถจัดอาหารกลางวันที่มีคุณภาพแก่เด็กทุกคน และมีการควบคุมอาหารว่าง อาหารที่ไม่มีประโยชน์ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน
นายสง่า ดามาพงศ์ เครือข่ายโภชนาการสมวัย เผยว่า การพัฒนาระบบการจัดอาหารในโรงเรียนของประเทศไทยถือเป็นความท้าทายของสังคมไทย ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ใช่เฉพาะภาคการศึกษาและสาธารณสุขเท่านั้น ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้มีความความมุ่งมั่นร่วมกันในการผลักดันให้มีการยกเครื่องระบบอาหารภายในโรงเรียน ทั้งระบบทรัพยากร งบประมาณ และ การบริหารจัดการ เพื่อส่งเสริมให้เด็กไทยมีพัฒนาการที่สมวัยและเป็นทรัพยากรที่สำคัญในอนาคต
ที่มา : กระทรวงศึกษาธิการ