วันนี้ ( 2 ม.ค.) นพ.นิพนธ์ โพธิพัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ไคร้เครือเป็นเครื่องยาสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ใช้กันมากในตำรับยาไทย โดยเฉพาะตำรับยาแก้ไข แก้อักเสบ และคลายกล้ามเนื้อ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า อริสโตโลเซีย ( Aristolochia sp.) มีความเป็นพิษต่อตับ ไต และต่อมหมวกไต เนื่องจากมีรายงานการศึกษาทางพิษวิทยา พบว่า กรดเอริสโทโลคิก ( aristolochic acid) จากสมุนไพรไคร้เครือ มีผลต่อหนูที่ตั้งท้อง ทำให้มดลูกผิดปกติ และทำให้แท้ง
นอกจากนี้จากการศึกษางานวิจัยทางคลินิกในต่างประเทศ รายงานว่า ผู้ป่วยที่ได้รับสมุนไพรที่มีสารดังกล่าว พบอาการเป็นพิษต่อไต โดยตรวจพบสารอริสโตแลคตัม ( aristolactams) และสารเอเอ-ดีเอ็นเอ แอดดัคท์(AA-DNA adducts) อื่น ๆ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งและทำให้ไตวายในผู้ป่วย
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อปี 2545 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้พืชสกุล อริสโตโลเซียเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์
เนื่องจากในหลายประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนนาดา ฝรั่งเศส โอมาน และสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศระงับการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรที่มีกรดเอริสโทโลคิกซึ่งเป็นพิษต่อร่างกายโดยทำให้เกิดไตวายและเป็นมะเร็งทางเดินปัสสาวะ ดังนั้นทางคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติจึงได้มีประกาศตัดสมุนไพรไคร้เครือออกจากตำรับยาแผนไทยในบัญชียาหลักแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2554 จำนวน 10 ตำรับ จาก 28 ตำรับ ได้แก่ ยาหอมนวโกฐ ยาหอมแก้ลมวิงเวียน ยาหอมอินทจักร์ ยาธาตุบรรจบ ยาประสะการพลู ยาประสะเจตพังคี ยามัมทธาตุ ยาวิสัมพยาใหญ่ ยาเขียวหอม ยาอำมฤควาที เนื่องจากมีข้อมูลงานวิจัยบ่งชี้ว่าไคร้เครือที่ใช้และมีการจำหน่ายในท้องตลาด เป็นพืชในสกุลอริสโตโลเซีย
นางณุฉัตรา จันทร์สุวานิชย์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสมุนไพร กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2555 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการวิจัยศึกษาความเป็นพิษของสมุนไพรไคร้เครือ โดยสุ่มเก็บตัวอย่างจากร้านขายยาสมุนไพรในกรุงเทพฯ นครปฐม สกลนคร เชียงใหม่ และราชบุรี จำนวน 10 ตัวอย่าง มาตรวจวิเคราะห์ทางเคมีด้วยวิธี โครมาโทกราฟีผิวบาง พบว่า ทุกตัวอย่างมีกรดเอริสโทโลคิก และเมื่อใช้วิธีวิเคราะห์กึ่งปริมาณ พบว่า สารสกัดด้วยเมทานอลจากไคร้เครือมีปริมาณกรดเอริสโทโลคิก ดังนั้นผู้บริโภคต้องระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการใช้สมุนไพรไคร้เครือที่เป็นพืชสกุลอริสโตโลเซียเพราะเป็นอันตรายต่อร่างกาย นอกจากนี้ก่อนเลือกซื้อยาสมุนไพรทุกชนิด ต้องสังเกตว่ามีทะเบียนยาถูกต้องหรือไม่ ดูวันผลิตยาและวันหมดอายุ ภาชนะบรรจุอยาในสภาพดีหรือไม่ แหล่งผลิตน่าเชื่อถือและจะต้องระบุสถานที่ผลิตยาในฉลากอย่างชัดเจน.