นอกจากปรากฏการณ์ที่นักดาราศาสตร์ทั่วโลกจับตามองอย่าง ดาวหางใกล้โลก ดาวเคราะห์น้อยเฉียดโลก รวมถึงพายุสุริยะ แล้ว ปรากฏการณ์บนท้องฟ้ายังมีอีกหลายอย่างที่น่าสนใจ และมีให้ชมตลอดทั้งปี
“นายอารี สวัสดี” นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย บอกว่า ปีนี้จะเกิดอุปราคา ซึ่งหมายถึงสุริยุปราคา และจันทรุปราคา รวม 5 ครั้ง
โดยวันที่ 26 เมษายน 2556 เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน เห็นได้ในยุโรปและเอเชีย วันที่ 10 พฤษภาคม 2556 จะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวน เห็นได้ในแถบแปซิฟิกใต้
ส่วนวันที่ 25 พฤษภาคม 2556 เกิดจันทรุปราคา แบบเงามัว ซึ่งสังเกตเห็นได้ยาก และวันที่ 19 ตุลาคม 2556 ก็เป็นจันทรุปราคาแบบเงามัว ซึ่งเห็นไม่ชัดเช่นกัน
และส่งท้ายปลายปีด้วยปรากฏการณ์สุริยุปราคาแบบเต็มดวงในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2556 แต่จะเห็นปรากฏการณ์นี้ได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากเกิดในช่วงพระอาทิตย์ใกล้ตกดินพอดี
นอกจากนี้จะมีปรากฏการณ์ฝนดาวตก ซึ่งเกิดขึ้นตามปกติทุกปี อย่างเช่น ฝนดาวตกควอดแดรนต์
ซึ่งมีจำนวนตกสูงสุดในช่วงวันที่ 3-4 มกราคมของทุกปี แต่มักเห็นได้น้อย โดยเฉพาะในไทยที่คาดว่าจะเห็นตกมากที่สุดในช่วงเช้าวันศุกร์ที่ 4 มกราคม 2556 โดยอัตราตกสูงสุดเพียง 4 ดวงต่อชั่วโมง ฝนดาวตกพิณ ที่ประเทศไทยมีโอกาสเห็นได้มากสุดในคืนวันที่ 21 และ 22 เมษายน 2556 มีอัตราตกสูงสุดประมาณ 10-15 ดวงต่อชั่วโมง
ฝนดาวตกอีตาคนแบกหม้อน้ำ ที่เกิดจากดาวหางแฮลลีย์ มีอัตราตกสูงสุดในช่วงวันที่ 5-7 พฤษภาคม 2556 โดยมีอัตราตกระหว่าง 40-85 ดวงต่อชั่วโมง และฝนดาวตกเดลตาคนแบกหม้อน้ำใต้ อัตราตกสูงสุดในวันที่ 29-30 กรกฎาคม โดยอยู่ที่ประมาณ 16 ดวงต่อชั่วโมง
ส่วนฝนดาวตกเพอร์ซิอัส หรือฝนดาวตกวันแม่ ซึ่งเป็นฝนดาวตกที่มีชื่อเสียงในประเทศตะวันตก ปีนี้ถือเป็นปีที่ดีสำหรับประเทศไทยในการสังเกต เนื่องจากอยู่ในช่วงครึ่งแรกของข้างครึ่ง เริ่มสังเกตได้ตั้งแต่วันที่ 11-15 สิงหาคม เห็นได้ตั้งแต่ 4 ทุ่มครึ่ง และเพิ่มสูงสุดในช่วงก่อนเช้ามืด
ฝนดาวตกวันแม่นี้ คาดว่าอัตราตกสูงสุดจะอยู่ที่ 30-65 ดวงต่อชั่วโมง
สำหรับฝนดาวตกที่เป็นที่สนใจของชาวไทยรวมถึงทั่วโลกในทุก ๆ ปี ก็คือฝนดาวตกสิงโตหรือลีโอนิดส์ ที่ตกมากในช่วงวันที่ 15-16 พฤศจิกายน ปีนี้ใกล้คืนเดือนเพ็ญ ทำให้มีแสงจันทร์รบกวน คาดว่าทำให้พบดาวตกได้น้อยหรือประมาณ 10-15 ดวงต่อชั่วโมง
และส่งท้ายปลายปีเช่นเคย ด้วยฝนดาวตกคนคู่หรือเจมินิดส์ ปีนี้ประเทศไทยคาดว่าจะเห็นฝนดาวตกยอดฮิตนี้ได้มากที่สุดในคืนวันศุกร์ที่ 13 ถึงเช้ามืดวันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม โดยคาดว่าตกสูงสุดประมาณ 60-70 ดวงต่อชั่วโมง
สนใจปรากฏการณ์บนท้องฟ้า เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ เว็บไซต์สมาคมดาราศาสตร์ไทย (http://thaiastro.nectec.or.th หรือเว็บไซต์สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (www.narit.or.th)
ยังมีปรากฏการณ์บนท้องฟ้าให้ศึกษาอีกเพียบ!!.
ปรากฏการณ์ท้องฟ้าปี 2556
ปรากฏการณ์ท้องฟ้าปี 2556