ใครที่เป็นคนรักสุขภาพ ใส่ใจเรื่องการกิน และไม่อยากแก่ คงคุ้นหูกับคำว่า “สารต้านอนุมูลอิสระ” หรือ “แอนตี้ออกซิแด้นท์ (Antioxidant)” กันดีใช่ไหมคะ? หากใครยังไม่เคยรู้จัก หรือไม่เคยได้ยิน ถึงเวลาต้องรู้จักสารที่เป็นประโยชน์มากๆ และจำเป็นกับร่างกายแล้วล่ะค่ะ
ก่อนทำความรู้จักสารต้านอนุมูลอิสระนั้น เราจำเป็นต้องรู้จักกับ “อนุมูลอิสระ” กันก่อน เพราะความแก่ชรา เซลล์ต่างๆ ที่เสื่อมสภาพลงไป ล้วนเป็นผลมาจากเจ้าอนุมูลอิสระ และสารนี้ยังอาจถือเป็นต้นตอของปัญหาสุขภาพ ไม่ว่าจะโรคหัวใจ โรคมะเร็ง ความแก่ ความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ
แล้วอนุมูลอิสระมาจากไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร? คำตอบคือ ในกระบวนการเผาผลาญสารอาหารของร่างกายซึ่งมีความจำเป็นต้องอาศัยออกซิเจนช่วย จะเกิดผลพลอยได้ (น่าจะเรียกว่าพลอยเสียมากกว่า) คือ ออกซิเจนที่มีประจุลบ ซึ่งก็คืออนุมูลอิสระ สารตัวนี้นอกจากจะรวมตัวกับไขมันไม่ดี (LDL) แล้ว ยังสามารถไปรวมตัวกับสารบางชนิดในร่างกาย แล้วก่อให้เกิดสารพิษที่ทำลายเนื้อเยื่อ หรืออาจไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลทางพันธุกรรมภายในเซลล์ ทำให้เซลล์ที่ปกติแปรสภาพไปเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด..ฟังดูแล้วน่ากลัวทีเดียว!
ที่สำคัญอาหารที่มักเป็นต้นตอของอนุมูลอิสระ ส่วนใหญ่เป็นของโปรดของหลายๆ คน อย่างอาหารพวก ปิ้ง ย่าง เผา เนื้อกรอบ เกรียมไหม้
ทราบกันแล้วว่า เจ้าอนุมูลอิสระส่งผลร้ายต่อร่างกายอย่างไร ทีนี้มารู้จักสารที่ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระกันเลยค่ะ
สำหรับสารต้านอนุมูลอิสระ คือ สารประกอบที่สามารถป้องกันหรือชะลอการเกิดกระบวนการออกซิเดชั่น กระบวนดังกล่าวมีหลายรูปแบบ เช่น กระบวนการออกซิเดชั่นที่ทำให้เหล็กกลายเป็นสนิม ทำให้แอปเปิ้ลเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือทำให้น้ำมันพืชเหม็นหืน หรือกระบวนการออกซิเดชั่นที่เกิดในร่างกาย เช่น การย่อยสลายโปรตีนและไขมันจากอาหารที่กินเข้าไป มลพิษทางอากาศ การหายใจ ควันบุหรี่ รังสียูวี ล้วนทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระขึ้นในร่างกาย ทว่าในความเป็นจริงนั้น ไม่มีสารประกอบสารใดเพียงสารเดียวที่สามารถป้องกันการเกิดออกซิเดชั่นได้ทั้งหมด แต่ละกลไกอาจต้องใช้สารต้านอนุมูลอิสระที่แตกต่างกันในการหยุดกระบวนการออกซิเดชั่น
ในอีกทางหนึ่ง กระบวนการออกซิเดชั่นก็เป็นกระบวนการที่สำคัญต่อร่างกาย เช่น เราใช้ออกซิเจนจากอากาศที่หายใจเข้าไปเพื่อเผาผลาญอาหารให้เป็นพลังงานสำหรับเซลล์ต่างๆ แต่ก็ทำให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้นมาด้วย แถมยังเข้าไปทำปฏิกิริยากับโมเลกุลที่สำคัญในร่างกาย เช่น ไขมัน โปรตีน ดีเอ็นเอ ทำให้เกิดความเสียหายต่อโมเลกุลดังกล่าว
เมื่อสารอนุมูลอิสระทำให้ร่างกายเสื่อม สารต้านอนุมูลอิสระจึงมีส่วนช่วยป้องกันและกำจัด ทั้งนี้ มีงานวิจัยมากมายชี้ว่า สารต้านอนุมูลอิสระสามารถลดความเสี่ยงได้หลายโรค โดยเฉพาะโรคเรื้อรังที่สัมพันธ์กับอาหาร เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคสมอง (เช่น อัลไซเมอร์) เป็นต้น รวมทั้งช่วยชะลอความแก่
โดยปกติร่างกายสามารถกำจัดอนุมูลอิสระก่อนที่มันจะทำอันตราย แต่ถ้ามีการสร้างอนุมูลอิสระเร็วหรือมากเกินกว่าร่างกายจะกำจัดทัน อนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นจะสร้างความเสียหายต่อเซลล์และเนื้อเยื่อได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เมื่อเป็นเช่นนี้ สารต้านอนุมูลอิสระจึงช่วยลดความเสียหายได้ 2 ทาง คือ 1.ลดการสร้างอนุมูลอิสระในร่างกาย 2.ลดอันตรายที่เกิดจากอนุมูลอิสระ
อย่างไรก็ตาม ควรเข้าใจให้ถูกว่า สารต้านอนุมูลอิสระไม่สามารถแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่สามารถชะลอความเสียหายให้เกิดช้าลง โดยเฉพาะโรคเรื้อรังซึ่งเป็นผลลัพธ์สะสมที่เกิดจากเซลล์และเนื้อเยื่อในร่างกายถูกทำอันตรายและเสียหายเป็นปีๆ (โดยมากเป็นเวลาหลายสิบปี) เห็นได้จากการรวบรวมความชุกของโรคว่าโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นมากในผู้ใหญ่วัยกลางคนหรือผู้สูงอายุ
ดังนั้น ทุกเพศทุกวัยจึงควรได้รับสารต้านอนุมูลอิสระให้พอเพียงต่อความต้องการในแต่ละวัน เพื่อให้เกิดความสมดุลในร่างกายระหว่างสารต้านอนุมูลอิสระ และอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้น
สารต้านอนุมูลอิสระหาได้จากไหน? สารนี้ได้แก่ วิตามินซี วิตามินอี ซีลีเนียม บีตาแคโรทีน วิตามินเอ พฤกษาเคมีต่างๆ (phytochemicals) เช่น สารประกอบฟีโนลิก (polyphenol) จากชาและสมุนไพรบางชนิด ไอโซฟลาโวน (isoflavones) จากถั่วเหลือง เป็นต้น เพื่อให้ร่างกายได้รับสารต้านอนุมูลอิสระพอเพียงกับความต้องการ ส่วนเทคนิคง่ายๆ ในการรับสารต้านอนุมูลอิสระ คือควรกินผักผลไม้สีเข้มเป็นประจำ
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วคงพอทราบว่าการที่ร่างกายแก่ชราก็เพราะเซลล์เสื่อมสภาพจากอนุมูลอิสระ ดังนั้นวิธีในการชะลอวัย ก็คือการกำจัด หรือลดปริมาณสารอนุมูลอิสระลง โดยการลดจากปัจจัยภายนอก เช่น แสงแดด สารพิษ มลภาวะจากสิ่งแวดล้อม อาหารประเภท ปิ้ง ย่าง เผา จนเกรียมไหม้ และพยายามทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระเข้าไปนั่นเอง
เพียงหลักง่ายๆ แค่นี้เราก็จะมีร่างกายที่แก่ช้าลง ทราบแล้วก็ปรับรูปแบบการทานอาหารกันใหม่นะคะ เพื่อสุขภาพของเราเอง และคนที่เรารัก อย่าลืมประโยคสำคัญที่ว่า You are what you eat กันล่ะ.