"ทำไมนกกระยางจึงยืนขาเดียว เวลาหลับ"
ถ้าผ่านไป 5 นามีแล้วคุณยังคิดไม่ออกนั่นเพราะคุณมัวแต่จะถามตัวเองใช่ไหมว่า... ทำไมมันยืนขาเดียว ทำไมมันไม่ยืนสองขา
ลองเปลี่ยนมาถามตัวเองใหม่สิว่า...
ทำไมมันหดขาเดียว ทำไมมันไม่หดสองขาเท่านี้แหละ คำตอบก็มาทันทีว่า .. "ถ้ามันหดทั้งสองขา มันก็ล้มน่ะสิ"
ปริศนาข้อนี้ตอบได้ง่าย หากเราเปลี่ยนมุมมองหรือตั้งคำถามเสียใหม่ นกกระยางขาเดียวกับนกกระยางหดขาเดียวที่จริงก็คือสิ่งเดียวกัน แต่เป็นภาพอันเกิดจากมุมมองที่ต่างกันและสามารถชักนำความคิดของเราไปคนละทิศละทางได้การเปลี่ยนคำถามหรือมุมมอง มีผลเปลี่ยนวิถีชีวิตของคุณได้
คงมีหลายครั้งที่คุณรู้สึกเศร้าสร้อยน้อยใจเฝ้าบ่นในใจว่า "ทำไมเขาไม่เข้าใจเราเลย"
การตอกย้ำกับตัวเองด้วยความคิดอย่างนี้บางทีก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย นอกจากตัวเองจะทุกข์แล้วยังทำให้ความสัมพันธ์แย่ลงไปอีก
ลองเปลี่ยนมุมมองหรือตั้งคำถามใหม่สิว่า
"แล้วเราล่ะ เข้าใจเขาบ้างหรือเปล่า"การถามแบบนี้อาจช่วยให้เราพบสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาก็ได้เพราะอันที่จริง เราเองก็คงไม่ได้เข้าใจเหมือนกันสัมพันธภาพของผู้คนทักมีปัญหา
เพราะทุกคนคิดแต่จะเรียกร้องให้คนอื่นเข้าใจตนเอง แต่ไม่พยายามหรือแม้กระทั่งคิดที่จะเข้าใจคนอื่นถึงตรงนี้ คำถามไม่ได้อยู่ที่ว่า "ทำไมเขาไม่เข้าใจเรา" แต่อยู่ที่"ทำไมเราถึงไม่เข้าใจเขา" และ "ทำอย่างไรเราถึงจะเข้าใจเขาได้"
ในทำนองเดียวกัน สำหรับคนที่ชอบบ่นในใจว่า "ทำไมฉันถึงซวยอย่างนี้" หากเปลี่ยนมาถามตัวเองว่า "ทำไมฉันชอบบ่นอย่างนี้" เขาอาจได้คิดและลุกขึ้นมาสู้ใหม่ ไม่ทดท้อ หรืองอมืองอเท้าเหมือนเก่า
การรู้จักคำถาม เป็นศิลปะสำคัญอย่างหนึ่งของชีวิต ทุกวันนี้เราถูกสอนให้สนใจคำตอบ จนลืมว่าคำถามนั้นสำคัญกว่าคำตอบมากคำถามนั้นเป็นตัวกำหนดคำตอบ พูดอีกอย่างก็คือ คำถามเป็นตัวกำหนดความคิดและการกระทำของเราถ้าตั้งคำถามผิด ก็พาความคิดของเราเข้ารกเข้าพงซ้ำอาจพาชีวิตหลงทางไปด้วยเด็ก (และผู้ใหญ่) หลายคนชอบถามในใจ
เวลามีงานกองอยู่ข้างหน้าว่า "ฉันจะทำได้หรือ"
คำถามอย่างนี้ชวนให้ท้อ แต่ความรู้สึกของเขาจะเปลี่ยนไปหากเขาถามตัวเองใหม่ว่า "ทำไมฉันจะทำไม่ได้" อย่างไรก็ตามบ่อยครั้ง อุปสรรคไม่ได้อยู่ตรงที่ว่า ทำได้หรือไม่ได้ หากอยู่ที่แรงจูงใจ
มีคำถามหนึ่งซึ่งคุณหมอประเวศ วะสี บอกว่าเป็นคำถามที่น่าเกลียดที่สุด แต่เป็นคำถามที่กำลังระบาดไปทั่วสังคมไทยนั่นก็คือ คำถามว่า "ทำแล้วฉันจะได้อะไร"
คำถามอย่างนี้ทำให้คนเห็นแก่ตัวมากขึ้นทำให้จิตใจแคบลง และหาความสุขไ้ด้ยาก
จะไม่ดีกว่าหรือ หากเราถามใหม่ว่า
"ทำแล้วส่วนรวม (หรือสังคม) จะได้อะไร"
การคำนึงถึงส่วนรวม โดยเริ่มต้นจากคำถามแบบนี้จะช่วยให้สังคมไทยน่าอยู่มากขึ้น และคนที่เสียสละเพื่อส่วนรวมก็จะได้ไม่ต้องมาคอยตอบคำถามของญาติมิตรว่า
"ทำแล้วเธอได้อะไร" หรือถูกตั้งข้อสงสัยว่า "ได้ไปเท่าไหร่"
การถามว่า ใคร กับ ทำไม ให้ผลที่แตกต่างกันมากเวลาเกิดเหตุร้ายขึ้นมา คนส่วนใหญ่มักสนใจว่า ใครทำแต่ไม่ค่อยถามว่า ทำไมเขาจึงทำ คำถามแรกนั้นเพียงแต่สนองความอยากรู้อยากเห็น แต่คำถามหลังช่วยให้เห็นสาเหตุของปัญหาและอาจนำมาเป็นบทเรียนแก่ตนเองได้
** อย่างไรก็ตาม คงไม่มีำคำถามใดสำคัญ เท่ากับคำถามเกี่ยวกับชีิวิตจิตใจของเราเอง **
ถ้าเราเริ่มรู้สึกเหนื่อยอ่อนกับการถามตัวเองไม่รู้จบว่า
"เมื่อไหร่ฉันถึงจะรวยเสียที" ลองเปลี่ยนมาเป็นคำถามว่า "เมื่อไหร่ฉันถึงจะพอเสียที"