โรคไมเกรนหรือโรคปวดศีรษะชนิดหนึ่ง เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทที่หลอดเลือดแดงบริเวณศีรษะ ผู้ที่ป่วยคงรู้ดีว่า โรคนี้เรื้อรัง ไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่ก็มียาที่ใช้รักษาและป้องกันการเกิดอาการได้
อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลที่ผู้ป่วยไมเกรนควรรู้เพื่อระวังปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา เพราะเมื่อไม่นานมานี้ สถาบันประสาทแห่งอเมริกา เผยว่า ช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ได้ทำการติดตามภาวะสุขภาพของผู้หญิงกลุ่มตัวอย่าง 27,860 ราย ในจำนวนดังกล่าว มีผู้ที่ป่วยเป็นไมเกรน ชนิดมีอาการนำอยู่ 1,435 ราย โดยไมเกรนแบบมีอาการนำนี้หมายถึง ก่อนปวดศีรษะ 5-20 นาที จะเกิดความผิดปกติทางสายตา มีอาการตาพร่ามัว ตาลาย ภาพที่มองเห็นดูบิดเบี้ยวมีแสงวาบ
และที่สำคัญยังพบว่า จำนวนของผู้หญิงที่ป่วยไมเกรนตามข้อมูลข้างต้น ในเวลาต่อมา มี 1,030 ราย ป่วยเป็นโรคหัวใจวาย หรือไม่ก็เป็นโรคหลอดเลือดสมอง
อุบัติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ไมเกรนมีส่วนก่อโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง ซึ่ง ดร.โทเบียส เคิร์ธ จากโรงพยาบาลหญิงบริกแฮมในบอสตัน ขยายความเพิ่มเติมว่า ไมเกรนแบบที่มีอาการนำก่อนปวดศีรษะนั้น ทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงขึ้นเป็น 2 เท่า ในการป่วย 2 โรคอันตราย คือ โรคหัวใจวาย และโรคหลอดเลือดสมองในอนาคต ขณะที่ไมเกรนแบบไม่มีอาการนำก็ก่อความเสี่ยงได้เช่นกัน แต่น้อยกว่า
ความเสี่ยงที่ว่านี้ ยังถือเป็นปัจจัยเสี่ยงรองหรือปัจจัยที่ 2 เนื่องจากภาวะความดันโลหิตสูงต่างหากที่เป็นปัจจัยเสี่ยงหลักนำโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองมาเยือน
นอกจากนี้ สถาบันประสาทแห่งอเมริกายังมีผลการศึกษาชี้ให้เห็นอีกว่า ผู้หญิงที่เป็นไมเกรนแบบมีอาการนำและใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด อาจทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดได้
ได้รู้ข้อมูลเช่นนี้แล้ว ใครเป็นไมเกรน อย่าเพิ่งรีบด่วนสรุปว่าในอนาคตต้องป่วยโรคหัวใจวาย หรือโรคหลอดเลือดสมองเสมอไป เพราะถ้าดูแลรักษาสุขภาพตนเองให้ดีทุกด้าน โรคร้ายต่างๆ ก็ยากที่จะเข้ามาทำร้ายสุขภาพ.