อาหารงานแต่งงาน
งานแต่งงานนับเป็นงานที่สร้างความอิ่มหมีพีมันให้ผู้ที่ไปร่วมงาน ซึ่งนับเป็นความสวยงามอีกประการที่ไม่อาจจะละเว้นไม่กล่าวถึงไปได้เลยล่ะค่ะ
อาหารในงานวิวาห์นั้นแต่ละชาติแต่ละภาษาก็จะมีความแตกต่างกันออกไปทั้งในด้านการจัดวางการเลือกสรรเพื่อให้สอดคล้องกับแนวความคิดและคตินิยมในการแต่งงาน วันนี้เราจะมาดูอาหารงานแต่งแบบไทยๆ กันค่ะ คุณผู้อ่านที่เคยอยู่ใกล้ผู้เฒ่าผู้แก่ก็อาจจะเคยได้ยินคำว่า ไป "กินสามถ้วย" คำนี้มาจากอาหาร 3 ชนิดที่จะต้องมีในงานมงคลสมรสของคนไทยในสมัยก่อน
เนื่องจากในสมัยก่อนนั้น การเดินทางยังไม่สะดวก เมื่อมีใครจัดงานแต่งงานขึ้น
คนที่มาร่วมงานที่อยู่ไกลหน่อยก็จะต้องเดินทางกันลำบากและเกิดความเหนื่อยล้า อาหารที่ตระเตรียมสำหรับต้อนรับแขกที่เพิ่งมาถึงงานก็จะต้องเป็นอาหารที่เรียกพลังงานคืนได้ดี โดยอาหารดังกล่าวก็จะต้องมีชื่อและความหมายอันเป็นมงคล สอดคล้องกับงานแต่งงานด้วย ซึ่งได้แก่อาหารหวาน 3 รายการดังนี้ค่ะ
- ข้าวเหนียวน้ำกะทิ ซึ่งมีความหมายว่า ให้คู่บ่าวสาวนั้นรักกันแน่นเหนียวเหมือนข้าวเหนียวและมีความหวานชื่นเหมือนน้ำกะทิ
- ข้าวตอกน้ำกะทิ มีความหมายว่า ให้คู่บ่าวสาวนั้นมีความรักที่เบ่งบานรุ่งเรืองเช่นเดียวกับสีอันขาวสวยของข้าวตอก มีความหวานชื่นเหมือนน้ำกะทิ และในกรณีนี้แม่อบเชยมีความเห็นเพิ่มเติมว่า อาจจะแฝงไว้ด้วยความหมายของข้าวตอกที่เราใช้กันในงานพิธีไหวครูด้วยก็ได้นะคะว่า ขอให้ความรักเบ่งบานสวยงามภายใต้กรอบประเพณีอันดีงามเช่นเดียวกับที่ข้าวตอกไม่เคยกระเด็นออกนอกที่ครอบเวลาคั่วข้าวตอก
- ลอดช่องน้ำกะทิ มีความหมายให้คู่บ่าวสาวนั้นมีความรักที่ยืนยาวและจะทำการใดก็ขอให้ตลอดปลอดโปร่ง ประสบความสำเร็จในชีวิตคู่ เพราะลอดช่องนั้นมีลักษณะที่รื่นไหลนั่นเองค่ะ ส่วนน้ำกะทิก็มีความหมายเดิมค่ะ คือความหวานชื่นนั่นเองนะคะ
ทีนี้มาดูขบวนขันหมากค่ะ สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ "เตียบอาหาร"
ที่จะต้องมีอาหารหวานคาว อย่างน้อย 3 คู่ คือจะมากกว่านี้เท่าไหร่ไม่ว่ากันแต่น้อยกว่าไม่ได้ค่ะ ของที่จะต้องใส่เตียบได้แก่ หมากพลู ขนมจีบ ไก่ต้ม หมูต้ม ขนมจีนน้ำยา สุรา และ ห่อหมกค่ะ ซึ่งหากสังเกตให้ดีก็จะเห็นว่าอาหารที่ใส่มานั้น มีความหมายเข้ามาแทรกอีกแล้วนะคะ
ในพิธีแต่งงานไม่ว่าจะของชาติใดๆ ก็ตามจะต้องมีการป้อนอาหารให้กัน โรแมนติกเชียวล่ะนะคะ
|