ธรรมะ : เปรตปากสุกร
ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประทับอยู่ที่เวฬุวันวิหาร ณกรุงราชคฤห์ ทรงปรารภถึงสุกรมุข เปรตให้เป็นเหตุจึงทรงตรัสเล่าเรื่องที่มีมาแล้วแต่อดีต ความว่า
ในพระศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีภิกษุรูปหนึ่ง เป็นผู้บวชเข้ามาในพระศาสนาด้วยความเลื่อมใส ดำรงอยู่ได้ด้วยความเพียรพยายามที่จะสำรวมกาย แต่ไม่รู้จักประมาณ รักษาวาจาชอบซุบซิบนินทาว่าร้ายแก่เพื่อนภิกษุผู้มีศีลทั้งปวง ใครผู้ใดจะแนะนำสั่งสอนให้ละวาจานั้นเสีย ภิกษุนั้นก็หาได้ยอมละวาจาทุจริตนั้นๆไม่
ต่อมา ครั้นภิกษุนั้นตายลง ได้ไปบังเกิดในนรกหมกไหม้อยู่สิ้นเวลานานแสนนาน นับได้หนึ่งพุทธันดรพอดี เมื่อพ้นจากนรกนั้นแล้ว ก็ได้มาบังเกิดเป็นเปรต อดอยากอยู่ ณ เชิงเขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์ เหตุเพราะยังเหลือเศษบาปที่กล่าววาจาทุจริตนั้นอยู่
เปรตภิกษุตนนั้นมีรูปกายสีดังทอง มีปากดุจดังสุกร (หมู)
ขณะนั้นพระมหาเถระนารทะ พักอยู่บนยอดเขาคิชฌกูฏ เวลารุ่งเช้าพระเถระเจ้าจึงห่มจีวรถือบาตร เพื่อเตรียมตัวที่จะไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ พอเดินมาถึงตีนเขา พระเถระเจ้าจึงได้เห็นเปรต ผู้มีกายรุ่งเรืองดุจดังทอง มีปากดุจดังสุกร จึงได้เอ่ยถามขึ้นว่า
“ดูก่อนผู้จมทุกข์เหตุใดผิวกายของเธอจึงรุ่งเรืองส่องสว่างไปในทิศทั้งหลายดุจสีทอง แล้วปากของเธอนั้นเล่า ทำไมถึงเหมือนกับปากสุกร เธอได้ก่อกรรมทำบาปอะไรไว้ในปางก่อน”
เปรตนั้นจึงกล่าวตอบพระเถระเจ้าขึ้นว่า “ข้าแต่พระนารทะเถระเจ้า ร่างกายของข้าพเจ้า มีรูปร่างเหมือนกับร่างกายมนุษย์ทั่วไปแต่เหตุที่มีผิวกายรุ่งเรืองดุจดังทองนั่นเป็นเพราะสมัยที่ข้าพเจ้าบวชอยู่ในพระศาสนาของพระศาสดา ผู้ทรงนามว่ากัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ข้าพเจ้ามีความเลื่อมใส ดำรงตนที่จะขวนขวายสงบระงับรักษากายด้วยความสำรวม ด้วยอานิสงส์ผลบุญดังนั้น จึงทำให้ข้าพเจ้ามีรูปร่างดุจดังมนุษย์แต่มีสีกายรุ่งเรืองดังทอง
ส่วนเหตุที่ข้าพเจ้ามีปากเหมือนดังปากสุกร เหตุเพราะตอนที่ข้าพเจ้าบวชอยู่ ไม่ขวนขวายที่จะสงบระงับ ไม่สำรวมวาจาเอาแต่ว่ากล่างนินทาดุด่าว่าร้าย ให้แก่เพื่อนภิกษุทั้งหลายผู้ทรงศีลแม้จะมีผู้ปรารถนาดีคอยแนะนำพร่ำสอน ข้าพเจ้าก็ไม่อาวรณ์ที่จะละวาจาทุจริตนั้นๆ ด้วยเหตุแห่งวจีทุจริตนั้น จึงทำให้ปากของข้าพเจ้ากลายเป็นปากสุกร (ปากหมู) ดังท่านเห็น”
“ข้าแต่พระนารทะเถระ เมื่อท่านได้เห็นสภาพร่างกาย และปากของข้าพเจ้าแล้ว ขอท่านจงถือเอาเป็นอุทาหรณ์สอนตนว่า เราจะไม่ทำบาปด้วยปาก อย่าทำเหตุให้ปากต้องลำบาก เพราะกล่าววาจาชั่วหยาบ ถ้าเป็นผู้มีปากกล้า ไม่สงบสำรวม กล่าวว่า วาจาจ้วงจาบผู้ทรงศีล ท่านก็จะมีปากดังปากสุกรเช่นข้าพเจ้านี้”
เมื่อพระนารทะเถระเจ้า ได้สดับวาจาของเปรตปากสุกรจบลง ท่านจึงได้เที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ต่อไป ครั้นกลับจากบิณฑบาตฉันอาหารแล้ว พระเถระเจ้าจึงเข้าไปเฝ้าพระบรมสุคตเจ้าแล้วทูลเรื่องที่ท่านได้เห็นเปรตปากสุกรให้พระพุทธองค์ได้ทรงทราบ
พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “ดูก่อนนารทะ เปรตตนนั้นเราได้เคยเห็นมาแล้ว” พระพุทธองค์จึงทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสแสดงโทษของวจีทุจริต และคุณแห่งวจีสุจริต ให้พระนารทะพร้อมภิกษุทั้งหลายได้ทราบความว่า
วจีทุจริต เหตุที่ทำให้เป็นเปรต ๔ อย่างคือ
พูดเท็จ
พูดส่อเสียด
พูดคำหยาบ
พูดเพ้อเจ้อ
ผู้ประกอบ วจีสุจริต จักมีผลมิให้ตกนรกและมิต้องมาเป็นเปรต มี ๔ อย่างคือ
ไม่พูดเท็จ
ไม่พูดส่อเสียด
ไม่พูดคำหยาบ
ไม่พูดเพ้อเจ้อ
วาจาสุริตของเรา ให้คุณแก่เราได้ วาจาทุจริตของเราก็ให้โทษแก่เราได้เหมือนกัน