คงจะสงสัยนะครับว่า ความเป็นกลางของหัวใจคืออะไร จะรักษาไปทำไมกัน แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับความรัก ความชอบ ความโปรดปรานในสิ่งต่างๆ และบุคคลรอบข้าง สิ่งเหล่านั้นจะมิพลันมลายหายไปด้วยหรือ? แล้วโลกของเราที่กำลังเป็นสีชมพู สดใส หวานละไม จะกลายเป็นโลกสีดำ สีเทาที่จืดชืด น่าเบื่อ ไร้รสชาติไปด้วยหรือไม่
โอ้โฮ...แค่ได้ยินคำว่าความเป็นกลางของหัวใจเท่านั้นล่ะ สารพันปัญหาก็ผุดขึ้นมาประดุจท่อน้ำแตก ตามประสาคนทำงานที่อยู่กับความคิด คิดทั้งวันทั้งคืน จนกลายเป็นคนหยุดคิดไม่ได้แม้แต่ขณะ ทั้งยามหลับยามตื่น อาการแบบนี้อันตรายมาก! ระวังโรคเครียด โรคประสาทจะถามหา...เอาเป็นว่า เรารักษาความเป็นกลางของหัวใจ เพื่อป้องกันโรคใจสวิง อันเป็นสาเหตุหลักของอาการขี้หงุดหงิด ขี้รำคาญ ขี้โมโห ขี้บ่น มักโกรธ รวมทั้งอาการน้อยใจ ท้อใจ เศร้าใจ และสารพัดพฤติกรรมที่ทำลายล้างบั่นทอนไม่เฉพาะตนเอง แต่รวมถึงบุคคลรอบข้างและสรรพสัตว์ทั้งหลาย เนื่องมาจากการไม่ได้ดั่งใจในสิ่งที่ประสบพบเจอ
หลายต่อหลายคนต้องเสียอนาคตไปเพราะอาการวีนแตกชั่วครู่ยาม แต่พอได้สติกลับคืนมา (หลังจากที่เหตุการณ์ผ่านไปหนึ่งนาที หนึ่งชั่วโมง หนึ่งวัน หนึ่งเดือน หรือหนึ่งปี ขึ้นอยู่กับวัคซีนใจของคนคนนั้น) อะไรต่อมิอะไรก็สายไปเสียแล้ว หวนกลับมาให้เหมือนเดิมไม่ได้เสียแล้ว อุปมาเหมือนเราขับรถดีตลอดเส้นทางระยะหลายร้อยกิโลเมตร แต่ขาดสติเผลอหลับชั่ววูบ หรือเผลอโกรธจนลืมตัว ทำให้เกิดอุบัติเหตุที่น่าเศร้า ไม่สามารถเดินทางต่อไปจนถึงที่หมายปลายทางได้ เพียงแค่การลืมตัวเผลอใจชั่วขณะเท่านั้นเอง
อาการแบบนี้เรียกว่าใจสวิงครับ หมายถึงว่าเป็นคนที่กระทบอะไรนิดอะไรหน่อย ก็สุขมากๆ ถึงมากที่สุด ทุกข์มากๆ ถึงทุกข์ที่สุด เดี๋ยวดี เดี๋ยวคลุ้มคลั่ง เดี๋ยวน่ารัก เดี๋ยววีน ขึ้นอยู่กับว่าจะเจอกับใคร อยู่ในสถานการณ์แบบไหน จัดเป็นคนประเภทสุดโต่ง จากซ้ายสุดสามารถเปลี่ยนมาเป็นขวาสุดได้ในชั่วพริบตา เป็นคนประเภทฟูฟีบ เพื่อนฝูงญาติมิตรไม่สามารถเดาได้ถูกว่า วันนี้จะมาในอารมณ์ไหน ต้องหมั่นดูทิศทางลมก่อนเข้าใกล้ ไม่งั้นอาจโดนพิษภัยจากอาการใจสวิงได้ อันตราย!!
คนที่มีอาการใจสวิงง่าย ต้องฝึกรักษาความเป็นกลางของหัวใจเอาไว้ ฝึกไปเรื่อยๆ ช่องห่างของการสวิงจากซ้ายไปขวา จากฟูไปฟีบ จากพองไปยุบ จะค่อยๆ แคบเข้า จนใจเรามีความเสถียร มีความมั่นคง มีความหนักแน่นในจิตใจได้ในระดับที่ดี จนไม่ทำให้ความชังความชอบที่เกิดจากสิ่งที่มากระทบจากภายนอกส่งผลทำให้ใจเกิดอาการสวิง
เทคนิคการฝึกง่ายๆ และควรฝึกบ่อยๆ คือ เปลี่ยนบทบาทจากที่มักจะเป็นผู้ตัดสินหรือผู้พิพากษา ให้คะแนนบุคคลต่างๆ รอบข้างว่าทำถูกหรือไม่ถูก ใช่หรือไม่ใช่ ด้วยความเร็วของใจที่เห็นอะไรปั๊บ ก็มักจะให้คะแนนทันที กลายมาเป็นผู้สังเกตการณ์อยู่รอบนอกที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย ลองฝึกมองหน้าคนสักห้าถึงสิบคนก็จะรู้ว่าทันทีที่เห็นหน้า ใจเราจะให้คะแนนคนทั้งสิบคนไม่เท่ากัน โดยไม่มีเหตุผล เพียงแต่ "ใจที่สวิง" ได้ใส่คะแนนบนหน้าผากไปเรียบร้อย บางคนได้มากบ้าง น้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับอคติในใจเราที่ได้สั่งสมเอาไว้ จนไม่มีความเป็นกลาง ไม่สามารถที่จะเห็นทุกคนด้วยความเสมอภาคได้ ไม่สามารถเปิดโอกาสที่เต็มที่ดีที่สุดให้กับทุกคนได้
ใจที่สวิงจึงทำให้เราสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ขึ้นอยู่กับว่าเราได้พบใคร วันทั้งวันจึงทุกข์ๆ สุขๆ ลุ่มๆ ดอนๆ ขึ้นอยู่กับโชคว่าจะได้เจอใครในเหตุการณ์แบบไหน แต่หากเรารักษาความเป็นกลางในหัวใจ เราจะทำให้ใจไม่ติดสินบน คือ เจอคนที่ชอบ ใจก็ไม่ฟูจนเกินเหตุ พบคนที่ชัง ใจก็ไม่เป็นทุกข์ ไม่รับสินบนทางใจจากใครทั้งสิ้น เพราะรักษาความเป็นกลางของหัวใจไว้ได้สม่ำเสมอ อาการหงุดหงิด วีนแตก ก็จะไม่เกิด
ใกล้เลือกตั้งใหญ่เข้ามาแล้ว ลองมาฝึกความเป็นกลางของหัวใจกันเอาไว้ ป้องกันไม่ให้จิตติดสินบนกันเถอะครับ!
ขอบคุณที่มา http://www.posttoday.com/ ดนัย จันทร์เจ้าฉาย |