คำว่า คริสต์มาส
ภาษาอังกฤษเขียนว่า Christmas ดังนั้นอย่าลืม "ต์" อยู่ที่คำว่า คริสต์ (Christ) ไม่ใช่คำว่า "มาส" (Mas) Christmas มาจากภาษาอังกฤษโบราณว่า Christes Maesse แปลว่า บูชามิสซาของพระคริสตเจ้า โดยพบคำนี้ครั้งแรกในเอกสารโบราณในปี ค.ศ.1038 ภายหลังแปรเปลี่ยนมาเป็นคำว่า Christmas ประวัติความเป็นมาของวันคริต์มาส ซึ่งเป็นวันเกิดของพระเยซูนั้น ตามหลักฐานในพระคัมภีร์บันทึกไว้ว่า พระเยซูเจ้าประสูติในสมัยที่จักรพรรดิซีซ่าร์ ออกัสตัส แห่งโรมัน ซึ่งทรงสั่งให้จดทะเบียนสำมะโนครัวทั่วทั้งแผ่นดิน โดยฝ่ายคีรีนิอัส เจ้าเมืองซีเรียก็ขานรับนโยบาย
ประวัติวันคริสต์มาส
อย่างไรก็ตามในพระคัมภีร์ ไม่ได้ระบุว่า
พระเยซูประสูติวันหรือเดือนอะไร ด้านนักประวัติศาสตร์วิเคราะห์ว่า เดิมทีวันที่ 25 ธันวาคม เป็นวันที่จักรพรรดิเอาเรเลียนแห่งโรมัน กำหนดให้เป็นวันฉลองวันเกิดของสุริยเทพ โดยตั้งแต่ปีค.ศ.274 ชาวโรมันซึ่งส่วนใหญ่นับถือเทพเจ้าฉลองวันนี้เสมือนว่า เป็นวันฉลองของพระจักรพรรดิไปในตัวด้วย เพราะจักรพรรดิก็เปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ ที่ให้ความสว่างแก่ชีวิตมนุษย์ แต่ชาวคริสต์ที่อยู่ในจักรวรรดิโรมัน รวมถึงชาวโรมันที่เปลี่ยนไปนับถือคริสต์อึดอัดใจที่จะฉลองวันเกิดของสุริยเทพ จึงหันมาฉลองการบังเกิดของพระเยซูเจ้าแทน หลังจากที่ชาวคริสต์ถูกควบคุมเสรีภาพทางศาสนาตั้งแต่ปีค.ศ.64-313 จนถึงวันที่ 25 ธันวาคม ปีค.ศ.330 ชาวคริสต์จึงเริ่มฉลองคริสต์มาสอย่างเป็นทางการและเปิดเผย
สำหรับองค์ประกอบในงานฉลองวันคริสต์มาสมีความเป็นมาเช่นกัน เริ่มที่คำอวยพรว่า
Merry Christmas สุขสันต์วันคริสต์มาส คำว่า Merry ในภาษาอังกฤษโบราณ แปลว่า สันติสุขและความสงบทางใจ จึงเป็นคำที่ใช้อวยพรคนอื่น ขอให้เขาได้รับสันติสุข และความสงบทางใจ เนื่องในโอกาสเทศกาลคริสต์มาส ต่อมาคือ "เพลง" ที่ใช้เฉลิมฉลองทั้งจังหวะช้าและจังหวะสนุกสนาน ส่วนใหญ่แต่งในยุคพระราชินีวิกตอเรียแห่งอังกฤษ (ค.ศ.1840-1900) ปัจจุบันแพร่หลายไปทั่วโลกโดยแปลเป็นภาษาต่างๆ มากมาย
สำหรับ "ซานตาคลอส"
เซนต์นิโคลัสแห่งเมืองมีรา สมัยศตวรรษที่ 4 ได้รับการขนานนามให้เป็นซานตาคลอสคนแรก เพราะวันหนึ่งท่านปีนขึ้นไปบนหลังคาบ้านของเด็กหญิงยากจนคนหนึ่งแล้วทิ้งถุงเงินลงไปทางปล่องไฟ บังเอิญถุงเงินหล่นไปทางถุงเท้าที่เด็กหญิงแขวนตากไว้ข้างเตาผิงพอดี
ปิดท้ายที่ต้นคริสต์มาส หรือต้นสนที่นำมาประดับประดาด้วยดวงไฟหลากสีสัน
ต้องย้อนไปศตวรรษที่ 8 เมื่อเซนต์บอนิเฟส มิชชันนารีชาวอังกฤษที่เดินทางไปประกาศเรื่องพระเจ้าในเยอรมนี ได้ช่วยเด็กที่กำลังจะถูกฆ่าเป็นเครื่องสังเวยบูชาที่ใต้ต้นโอ๊ก โดยเมื่อโค่นต้นโอ๊กทิ้งก็ได้พบต้นสนเล็กๆ ต้นหนึ่งขึ้นอยู่โคนต้นโอ๊ก ท่านจึงขุดให้คนที่ร่วมพิธีกรรมเหล่านั้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของชีวิต และตั้งชื่อว่า ต้นกุมารพระคริสต์ ต่อมามาร์ติน ลูเธอร์ ผู้นำคริสตจักรชาวเยอรมัน ตัดต้นสนไปตั้งในบ้านในเดือนธันวาคม ปีค.ศ.1540 หลังจากนั้นในศตวรรษที่ 19 ต้นคริสต์มาสจึงเริ่มแพร่ไปสู่ประเทศอังกฤษและทั่วโลก