อดีต กับ ความทรงจำ ต่างกันอย่างไร?

... ทั้ง 2 สิ่ง คือ เรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในชีวิต

อดีต กับ ความทรงจำ ต่างกันอย่างไร?

แต่ "อดีต" นั้้น คือเรื่องราวที่ผ่านมาทั้งหมด เราไม่สามารถจดจำ "อดีต" ได้ทั้งหมด จะมีเพียงบางเรื่องเท่านั้นที่อยู่ใน "ความทรงจำ"

"อดีต" เราเลือกไม่ได้ แต่สำหรับ "ความทรงจำ"

บางเรื่องเราก็เลือกที่จะำจำหรืออยากที่จะจำ แต่บางเรื่องที่บันทึกอยู่ใน "ความทรงจำ" ของเรา เชื่อว่าคงมีอยู่ไม่น้อยที่เราไม่อยากจะจำเลย

แต่เราก็จำ

"อดีต" ที่เป็น "ความทรงจำ" นั้น

น่ามีอยู่ 2 เรื่อง

คือ ความสุข และความทุกข์

"ความสุข" นั้น มักเป็น "ความทรงจำ" ที่เราเลือกจำ
แต่ "ความทุกข์" นั้นเป็น "อดีต" ที่ชอบแอบเข้ามาใน "ความทรงจำ" โดยที่เราไม่ได้อนุญาต
เป็น "ความทรงจำ" ที่ไม่อยากจำ
แต่ก็ต้องจำ

"ชีวิต" ก็เหมือนต้นไ้ม้ต้นหนึ่ง

ถ้าให้ "ปัจจุบัน" คือ ลำต้น กิ่้ง ก้าน ใบ ที่อยู่เหนือดิน
มี "อนาคต" ที่อยู่ในอากาศรอบๆ ต้นไม้ รอวันที่กิ่งก้านของต้นไม้จะเหยียดแข้ง เหยียดขาออกไป
ส่วน "อดีต" นั้น คือ รากที่อยู่ใต้ดิน

"อดีต" น่าจะเปรียบได้กับ "รากฝอย" ที่มีอยู่มากมายในระดับผิวดิน
แต่ "ความทรงจำ" คือ "รากแก้ว"
มันหยั่งลึกลงดินอย่างแน่นหนา ถ้ารากดี รากแข็งแรง ต้นและใบก็ดี
แต่ถ้ารากอ่อนแอ เป็นโรคต้นไม้นั้นก็ไม่เิติบโต

ไม่แปลก ที่คนมองโลกในแง่ดี ส่วนใหญ่จะมาจากครอบครัวที่อบอุ่น

ชีวิตวัยเด็กของเขามี "ความทรงจำ" ที่ดีมากมายในชึีวิต
เมื่อ "ราก" แข็งแรง ต้นไม้ก็ย่อมเติบโตอย่างมั่งคง

อดีตดี ปัจจุบันก็ดี

นี่คือ สัจธรรมความเป็นจริง


ในโลกแห่งความเป็นจริง...

บางครั้งเราไม่อาจปฎิเสธเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
มนุษย์ทุกคนอย่างเจอกับเรื่องราวที่เป็น "ความสุข" มากกว่า "ความทุกข์"
แต่บางครั้งเราก็เลือกไม่ได้

ถึงแม้ว่า "ความทรงจำ" คือ "รากแก้ว"
และรากที่แข็งแรง ใบก็จะดี
แต่ชีวิตนั้นคือ "ปัจจุบัน" ไม่ใช่ "อดีต"
ต้นไม้ทั้งต้น คงไม่มีใบที่หงิกงอทั่วทั้งต้น มันมีทั้งดี และไม่ดี

แต่อยู่ตรงที่เราจะเลือกว่า จะยืนอยู่ตรงไหนในการมอง

ถ้าเลือกจุดที่ดี เราก็จะมองเห็นต้นไม้งดงาม
แต่ถ้าเราเลือกจุดไม่ดี เราก็จะมองเห็นแต่ใบที่หงิกงอ

เช่นเดียวกันกับ

"ความทรงจำ" ที่อยู่กับเราตลอดกาล แต่อยู่ที่ว่าเราจะหยิบ "ความทรงจำ" ส่วนไหนในลิ้นชักออกมาดู

เรื่องนี้ เรากำหนดได้

"ความทรงจำ" ของเราก็เหมือนลิงซนที่มักจะโดดออกมาเล่นอยู่ตลอดเวลา
เชือกที่คอยกระตุกให้ลิงซนตัวไหนอยู่นิ่งๆ และปล่อยให้ลิงซนตัวไหนกระโดดโลดเต้นต่อไป
ก็คือ

"สติ"

ถ้าตั้งสติได้เร็ว พอรู้ตัวว่า "ความทรงจำ" ที่เป็น "ความทุกข์" แวบออกมา เราก็รีบเก็บเข้าลิ้นชักโดยเร็ว
และปล่อยความทรงจำที่เป็น "ความสุข" ออกมาแทน ทำเช่นนี้

การมี "สติ" จะทำให้ชีวิตของเรามีความสุข


อาจารย์ยาซิน บูดู ครูสอนศาสนาอิสลามที่มัสยิดตรงบางรัก ได้บอกหลักการคิดอย่างหนึ่งว่า

"ความทุกข์" หรือ "ความสุข" ก็เหมือนเมล็ดฉำฉา หรือเมล็ดจามจุรี

มันเล็กนิดเดียว แต่ถ้านำมาแช่น้ำหรือบ่ม มันจะกลายเป็นต้นจามจุรี ใหญ่โต

ปัญหาของ "ความทุกข์" หรือ "ความสุข" ไม่ได้อยู่ที่ตัวของมันเอง

แต่อยู่ที่การบ่ม หรือคิดซ้ำแล้วซ้ำอีก

ถ้าคิดซ้ำในเรื่อง "ความสุข" ต้นจามจุรีแห่งความสุขก็จะเติบใหญ่

แต่ถ้าคิดซ้ำซากในเรื่อง "ความทุกข์" ต้นจามจุรีแห่ง "ความทุกข์" ก็จะเติบโต

อย่าลืมว่าความทรงจำที่เป็น "ความสุข" นั้นเราเลือกได้

เมื่อเลือกแล้วก็ควรจะรู้จักการบ่มเพาะให้เติบโต

ส่วน "ความทุกข์" เมื่อเราไม่ได้เลือก มันมาเองก็ให้ดูแลมันแบบ ทิ้งๆ ขว้างๆ อย่าไปใส่ใจ

"อดีต" เราเลือกไม่ได้ แต่ "ความทรงจำ" เราเลือกได้


ขอบคุณที่มา: ทุกข์-สุข(หนุ่มเมืองจันท์) มติชนสุดสัปดาห์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์