ปวดท้องน้อยขณะมีประจำเดือน พบได้ประมาณร้อยละ 71 ของผู้หญิงในวัยที่มีประจำเดือน
ส่วนใหญ่จะปวดไม่มากและสามารถทำงานได้ตามปกติ ทานยาแก้ปวด พักผ่อนเยอะๆ ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบหน้าท้อง เดี๋ยวอาการปวดก็จะค่อยๆ หายไปเอง ส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจปวดรุนแรงจนต้องพักงาน หรือปวดมากจนทำงานไม่ได้ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ามีความผิดปกติของเยื่อบุมดลูก เช่น โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) เป็นหนึ่งในสามสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้หญิงเป็นหมัน โรคนี้จะเห็นชัดจากอาการปวดประจำเดือนอย่างรุนแรง ประจำเดือนมามาก และปวดอุ้งเชิงกรานเรื้อรัง หรือเกิดจากการอักเสบติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic inflammatory disease – PID) ซึ่งเป็นการอักเสบของอวัยวะสืบพันธุ์ภายใน เช่น มดลูก หรือปีกมดลูก อาการที่พบ คือ ปวดท้องน้อย มีไข้ ตกขาวผิดปกติหรือเป็นหนอง บางรายอาจเรื้อรังจนทำให้เป็นหมันได้ แนะนำว่าควรตรวจภายใน เพื่อค้นหาสาเหตุให้แน่นอน และให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ
“แต่ถ้าเลือดประจำเดือนออกมากผิดปกติ มักเกิดจากภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล ทำให้การตกไข่ไม่สม่ำเสมอ ซึ่งมีสาเหตุมาจาก การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในช่วงวัยรุ่น หรือวัยใกล้หมดประจำเดือน (วัยทอง) โรคเบาหวาน ความผิดปกติของต่อมธัยรอยด์ หรือต่อมใต้สมอง (Pituitary) อ้วนมากเกินไป บางทีอาจมีความเสี่ยงเป็นเนื้องอกของมดลูก หรือมีเยื่อบุโพรงมดลูกเติบโตผิดปกติของผนังมดลูกภายใน โดยทั่วไปจะไม่ใช่เนื้อร้าย แต่ในบางกรณีก็สามารถกลายเป็นเนื้อ ร้ายได้”
โดยเฉพาะถ้ามีเลือดออกผิดปกติร่วมกับรอบเดือนไม่สม่ำเสมอในผู้สูงอายุ
สำหรับผู้หญิงที่พบว่าประจำเดือนมาห่างเกินไป อาจเกิดจากความผิดปกติของรังไข่ และต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนเพศชายมากเกินไป ทำให้ไม่มีการตกไข่ และผลจากการมีระดับฮอร์โมนเพศชายสูงขึ้นในร่างกายผู้หญิง ย่อมก่อให้เกิดปัญหาน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ความผิดปกติเกี่ยวกับระดับน้ำตาลในเลือดและระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น มีบุตรยากเนื่องจากภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง รวมถึงการเริ่มมีสิวขึ้นมากตามใบหน้าและผิวหนัง ขนขึ้นดกตามใบหน้าและลำตัวผิดปกติอีกด้วย
สำหรับผู้ที่เกิดอาการผิดปกติแล้ว ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาโดยด่วน ส่วนผู้ที่ยังไม่ปรากฏอาการผิดปกติใดๆ ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ
ทางออกที่ดีคือ
ควรตรวจร่างกายประจำปีเพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งเป็นการช่วยให้สามารถตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ตอนที่โรคยังเป็นไม่มากนัก ส่วนคนที่ป่วยเป็นโรคแล้วก็จะได้ป้องกันต่อไปเพื่อไม่ให้เป็นโรคแทรกซ้อน
โดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงสามารถเริ่มตรวจร่างกายได้ตั้งแต่อายุ 20 ปี ซึ่งช่วงวัยนี้จะพบในเรื่องของ ฮอร์โมนผิดปกติ ประจำเดือนมาไม่ปกติ ป้องกันมะเร็งปากมดลูก ไวรัสตับอักเสบบี หัดเยอรมัน รับคำแนะนำก่อนแต่งงานหรือก่อนมีบุตร
ต่อมาคือ ช่วงอายุ 20 – 40 ปี ควรได้รับการตรวจมะเร็งปากมดลูก การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ภาวะการเป็นพาหะนำโรคที่สามารถถ่ายทอดสู่บุตร ปรึกษาเรื่องการคุมกำเนิด การวางแผนครอบครัว พออายุ 40 ปีขึ้นไป ร่างกายจะเริ่มจะแสดงความเสื่อมหลายอย่าง เช่น ไขมันเลือดจะสูงขึ้น มีภาวะอ้วนขึ้น มีความดันโลหิตสูงมากขึ้นได้ เบาหวาน มะเร็งเต้านม เตรียมตัวเข้าสู่วัยทอง ดูแลกระดูก เป็นต้น
สำหรับแง่ของการดูแลสุขภาพ การป้องกันโรคดูจะเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับคนไทยในยุคนี้ อย่ารอให้อาการเจ็บป่วยเกิดขึ้น เพราะสำหรับบางคนอาจจะสายเกินไปแล้ว