ความคิดที่แตกต่าง...ระยะห่างของรักเรา...

ความคิดที่แตกต่าง...ระยะห่างของรักเรา...


    จริงอยู่ที่ความรักไม่มีตัวตน มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ และใช้ความรู้สึกของหัวใจเป็นตัวตั้ง แต่ในความเป็นจริง ความรักต้องการตัวแปรมากกว่านั้น สิ่งสำคัญที่เป็นเหมือนกรรมการตัดสินว่า "รัก ไม่รัก" หรือรักแล้วจะ "อยู่ทนอยู่นาน" แค่ไหน ต้องใช้ความเหมือนและความแตกต่างของแต่ละคนมาเป็นส่วนแบ่งในการให้คะแนนด้วย 



          แต่บางเรื่องอาจยังไม่ถึงเวลาหรือสถานการณ์ยังไม่เอื้ออำนวยให้กรรมการออกมาทำหน้าที่ แต่เมื่อไหร่ที่กรรมการถูกปลุกขึ้นมา เมื่อนั้นอาจมีใครบางคนถึงกับหลั่งน้ำตา และถูกภาวะเศร้าเสียใจเกาะกุม เพราะเพิ่งรู้ว่าแท้จริงแล้วคนที่คิดว่ารู้จักมานานอาจเป็นเพียงคนแปลกหน้าที่สนิทกันเท่านั้น 


 


 การเมือง: เรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

          เรื่องจริงไม่อิงนิยายของคู่รักที่แต่งงานมานับ 10 ปี ที่เพิ่มมาค้บพบว่าเขาและเธอมีทัศนะคติเรื่องการเมืองที่แตกต่างกัน "แต่งงานกันมานานไม่เคยรู้เลยว่าผมกับเธอมีความคิดเห็นในเรื่องการเมืองที่ต่างกันแบบคนละขั้ว สอดคล้องกับข้อมูลที่ พ.ญ. พรรณพิมล หล่อตระกูล จิตแพทย์ ผอ.สถาบันราชานุกูล อธิบายว่า "ทุกคนย่อมมีความคิดเป็นของตัวเอง จึงเป็นที่มาว่าทำไมเราจึงมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ไม่เว้นแม้แต่สามี ภรรยา พ่อ แม่หรือลูก ซึ่งความแตกต่างด้านความคิดนั้นเกิดได้ตั้งแต่เรื่องเล็กที่สุดอย่างเรื่องการเลือกสีทาบ้าน และใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และตอนนี้ประเด็นขัดแย้งเรื่องการเมืองกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในหลายๆ ครอบครัว" 

          การขัดแย้งทางความคิดเกิดขึ้นได้ แต่ในประเด็นการเมืองนี้คุณหมอวิเคราะห์ว่า
"น่าจะมาจากสัญชาตญาณความเป็นผู้นำของผู้ชายที่มักคิดว่าตัวเองรู้มากกว่า โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจและการเมือง และอยากให้ผู้หญิงคล้อยตาม แต่เรื่องความชอบพรรคการเมืองเป็นเรื่องของสิทธิส่วนบุคคลที่ไม่ได้เสียไปหลังการแต่งงาน สามีภรรยาจึงมีความคิดแตกต่างกันได้ แต่ในความแตกต่างนั้นต้องมีทางออกของการแก้ปัญหาด้วย"
   
          เอแบคโพลล์ถึงหัวข้อทางออกเพื่อการลดความขัดแย้งเรื่องการเมืองภายในบ้านว่าร้อยละ 45.0 ใช้วิธีพูดคุยเรื่องอื่นแทน รองลงมา ร้อยละ 42.1 ระบุใช้วิธีหยุดคุยเรื่องการเมือง ร้อยละ 35.8 ไปดูหนัง ฟังเพลง ร้อยละ 14.0 ใช้วิธีไม่พูดคุยกันระยะหนึ่ง และร้อยละ 9.7 ไปชอปปิ้ง หรือเดินห้างสรรพสินค้า ตามลำดับ 


  


 การใช้เงิน : เงินเราของเรา เงินเขาก็ของเรา

          มีสามีภรรยาจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาเรื่องความแตกต่างด้านการใช้จ่าย จนทำให้เกิดปัญหาสะสมกลายเป็นข้อบาดหมางขึ้นอย่างไม่รู้ตัว คุณบ๊อบกับคุณเอ๋เป็นหนุ่มสาววัยทำงานทั้งคู่ เรื่องเงินทองจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ ทั้งคู่ไม่เคยกังวลเรื่องเงินขาดมือ แต่จะมีปากเสียงกันเรื่องการจับจ่ายใช้สอยที่ต่างกันอยู่เสมอ

          "ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยคิดว่า รายได้ส่วนที่ตัวเองหามาได้ เป็นเหมือนการแบ่งเบาเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนตัวจากผู้ชาย และมีความคิดว่าดีแค่ไหนแล้วที่ผู้ชายไม่ต้องยื่นมารับผิดชอบเรื่องนี้ แต่เมื่อใดที่ผู้ชายอยากใช้จ่าย ต้องผ่านการพิจารณาจากผู้หญิงก่อน เพราะผู้หญิงต้องการความมั่นคงทางการเงินสูง โดยเฉพาะความมั่นคงทางการเงินของคู่ชีวิต ถ้าผู้ชายมีเงินเก็บเพียงพอและเป็นที่พอใจของผู้หญิงแล้ว เมื่อนั้นผู้ชายจะจับจ่ายใช้สอยอะไรคงไม่มีปัญหา ซึ่งเรื่องแบบนี้ต้องคุยและวางแผนกัน โดยเฉพาะเงินของผู้ชายต้องบอกให้แน่นอนว่าได้เท่าไหร่ เหลือเก็บไหร่ และปล่อยให้ผู้หญิงมีอำนาจในการใช้จ่ายทั้งเงินส่วนตัวและเงินส่วนรวมแล้วเรื่องยุ่งๆ ในบ้านจะหมดไป"

          ข้อวิเคราะห์ของอาจารย์เรื่องเงินๆ ทองๆ ตรงกับข้อมูลที่มีการวิจัยไว้อย่างน่าสนใจคือ ผลการวิจัย 1 ใน 4 ของผู้หญิงไทยมีรายได้อยู่ในระดับเดียวกับสามี ในขณะที่ 21% มีรายได้สูงกว่า เป็นผลให้ผู้หญิงส่วนใหญ่ต้องการที่จะมีอิสระทางการเงิน เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นหลักประกันความมั่นคงทางสถานะการเงินของตัวเอง แต่ยังเป็นสิ่งที่ช่วยรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการแต่งงานที่ล้มเหลวได้ และมีผู้หญิงในกลุ่มตัวอย่างถึง 60% เปิดเผยว่าพวกเธอมีเงินเก็บส่วนตัวโดยที่สามีไม่ทราบ

          เมื่อถามเรื่องเงินกับผู้หญิงที่มีคู่รักทั้งที่แต่งงานแล้วและกำลังคบหาอยู่ พบว่ามีการแอบเก็บเงินส่วนตัวไว้แทบทุกคน บางคนมีทั้งไม่บอกแถมยังปิดบังค่าใช้จ่ายที่แท้จริงไว้ด้วย อย่างเช่นซื้อของชิ้นหนึ่ง 5,000 บาท จะบอกราคาเพียงครึ่งเดียว เพื่อเลี่ยงการซักถามที่ทำให้รำคาญใจและกันผิดพลาดหากถูกถามมากกว่าหนึ่งครั้ง 


 


 ไลฟ์สไตล์ : อย่าคิดว่าเราเหมือนกัน

          เมื่อเร็วๆ นี้ข่าวเตียงหักของดาราสาวคนดังมีสายสะพาย ขึ้นหน้าหนึ่งข่าวบันเทิงอยู่หลายวัน โดยโยนบาปให้ "ไลฟ์สไตล์" ที่แตกต่าง เป็นผู้ร้ายที่ย่องเข้ามาตัดสายใยแห่งรัก ขนาดว่าทั้งคู่มีลูกเป็นโซ่ทองคล้องใจด้วยกันแล้วยังต้านไว้ไม่อยู่

          คำถามที่ทุกคนอยากรู้คือ แล้วก่อนแต่งงานไม่รู้หรือว่า "มัน" ต่างกัน เมื่อถาม พ.ญ. พรรณพิมล คุณหมอคนเดิมอธิบายว่า
"ความเป็นจริงไม่มีใครไม่รู้หรอกว่าคู่ของเรามีไลฟ์สไตล์ต่างจากเราหรือเปล่า อยู่ที่ว่าแต่ละคนคาดหวังไว้แค่ไหนมากกว่า อย่างเช่นบางคนคิดว่าหลังแต่งงานเขาอาจจะเปลี่ยน ถ้าเขาไม่เปลี่ยน ก็คิดไปว่าเพราะไม่รัก เริ่มงอน โกรธ และรุนแรงไปเรื่อยๆ จนถึงแยกทางกัน"

          จากไลฟ์สไตล์ของเรากลายเป็นแค่ความชอบของเธอเพียงคนเดียว คุณหญิงเสียใจมากและเริ่มตีโพยตีพายว่าเป็นเพราะเขาไม่รักเธอ แต่คำตอบของเขาทำให้เธอโล่งใจ เขาว่า เพราะรักจึงบอก เพราะอยากแต่งงานด้วยจึงอยากให้เธอรู้ เพื่อหาทางที่จะอยู่ด้วยกันอย่างไม่บาดหมางหรือเป็นเหตุให้ต้องเลิกกันในอนาคต

          เป็นเรื่องดีที่คุณหญิงยอมรับฟัง เพราะเธอเองก็รักเขา ทั้งคู่ยอมปรับแต่ไม่ถึงกับยอมเปลี่ยนความชอบของตัวเอง หลังแต่งงานเธอลดวันและลดเวลาการเดินห้างลง และหันหน้าเข้าครัวทำอาหารให้เขาทาน ถึงแม้รสมือจะไม่อร่อยเท่าของที่สั่งเดลิเวอร์รี่มาทานเป็นประจำ แต่อย่างน้อยก็ได้ใจคุณเอกไปอย่างเต็มๆ ส่วนคุณเอกก็อดทนเดินห้างเป็นเพื่อนคุณหญิงได้แบบไม่บ่น เพราะใช้เวลาเดินที่น้อยลงทำให้เขาไม่บ่นหรืออิดออดแบบเมื่อก่อน กลับบ้านยังมีเวลาให้ล้างรถ พรวนดิน อีกเหลือเฟือ

          คู่นี้ตรงกับข้อเสนอแนะของ พ.ญ. พรรณพิมล ที่ว่าชีวิตคู่ต้องรู้จักปรับความต่างให้ลงตัว ซึ่งอาจต้องแลกมาด้วยการลดความเป็นตัวเองลงบ้าง แต่คงไม่ทั้งหมด เพราะถ้าเป็นแบบนั้นสู้หาคนใหม่ที่เหมือนกันหรือเป็นคนที่รับเราได้คงดีกว่า 


 
 


 ขนาดของครอบครัว : ความแตกต่างขั้นพื้นฐาน

          ความแตกต่างเรื่องของขนาดครอบครัวที่ดูเหมือนไม่มีพิษสงอะไรกับชีวิตคู่ เพราะคิดไปว่าความรักเป็นเรื่องของคนสองคน ครอบครัวไม่เกี่ยว คู่ที่คิดแบบนี้ตกม้าตายไปแล้วไม่น้อย เพราะพื้นฐานของครอบครัวเป็นความเคยชิน และเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด จะเปลี่ยนตอนโตคงไม่ง่ายนัก 


          ขนาดของครอบครัวที่ต่างกันเป็นประเด็นปัญหาที่ถกกันไม่จบสิ้น ด้วยที่ว่าครอบครัวของสามีเป็นครอบครัวใหญ่ มีพี่น้องเยอะ และแต่ละคนมีปัญหาเรื่องเงินไม่จบสิ้น เคลียร์เรื่องของคนนี้จบไปเรื่องของคนใหม่ก็โผล่ขึ้นมา เรียกว่ามีเรื่องให้ตามเช็ดตามล้างแทบทุกเดือนซึ่งส่วนใหญ่จะจบด้วยการที่เขาต้องเข้าไปจุนเจืออยู่เสมอ ทำให้ฝ่ายภรรยาไม่พอใจและเกิดปากเสียงกันในที่สุด 


          พ.ญ. พรรณพิมล ให้ทางออกในเรื่องนี้ว่า "ขนาดของครอบครัวไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดปัญหา แต่ปัญหาเกิดจากความเข้าใจของคนในครอบครัวมากกว่า อย่างเช่นปัญหาที่เกิดน่าจะเกิดจากครอบครัวเก่าขาดความยอมรับวัฎจักรของครอบครัวที่ว่า เมื่อถึงวัยอันควรผู้ที่เป็นลูกหลานต้องแยกตัวออกไปเป็นครอบครัวใหม่ ไม่เป็นเขยแต่งออกก็เป็นสะใภ้แต่งเข้า แต่บางครอบครัวจะติดกับความรู้สึกเก่าๆ ที่ว่าเคยอยู่ด้วยกันมีเรื่องอะไรก็ช่วยกันแก้ไขโดยลืมไปว่าคนนั้นเขาออกไปมีสถานะภาพใหม่แล้ว 


          ปัญหาเรื่องครอบครัวเป็นเรื่องบอบบาง ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป คนอยู่ด้วยก็ต้องช่วยด้วย ไม่ใช่ว่ามีเรื่องอะไรก็ต่อความยาวสาวความยืด ขุดเรื่องเก่ามาเล่าใหม่อยู่นั่น อย่างนี้ต่อให้เขาอยากแก้ไขให้ตายก็ไม่มีวันสำเร็จ สู้อยู่สวยๆ เตรียมน้ำเย็นไว้ลูบเขา ดีกว่าเป็นน้ำร้อนรอสาด แล้วเขาจะเลือกได้เองว่าน้ำ (ร้อน-เย็น) แบบไหนสบายกว่ากัน


 


 


Do&Don't เมื่อพบว่าเราต่างกัน 

ห้ามเด็ดขาด

          1. อย่าตีโพยตีพาย แล้วโยนความผิดว่าเขาไม่บอก หรือคุณถูกหลอก ถ้าเขาโกรธ แล้วย้อนกลับมาว่าเพราะคุณฉลาดน้อยเอง จะทำให้เสียเซล์ฟเสียเปล่าๆ

          2. อย่าหลอกตัวเองว่ารับได้ เพราะมันจะกัดกร่อนจิตใจเราลงไปเรื่อยๆ

          3. ถ้าตกลงกันว่าจะพบกันครึ่งทาง เวลาทะเลาะกันก็ไม่ควรฟื้นฝอยหาตะเข็บ เพราะมันจะไม่จบ และเพิ่มความเซ็งในชีวิตให้มากขึ้น 


 
 


 รีบทำด่วน

          1. เปิดใจและยอมรับความจริง ผู้ชายกับผู้หญิงมีความแตกต่างกัน ไม่แปลกที่เขาจะคิดต่างจากเรา

          2. ใช้เหตุผลในการตัดสินใจให้มากกว่าอารมณ์ ถือคติที่ว่า ยามรักใช้ความรู้สึกมากกว่าสมอง ยามโกรธใช้สมองมากกว่าอารมณ์


 




ข้อมูลจาก


ความคิดที่แตกต่าง...ระยะห่างของรักเรา...


ความคิดที่แตกต่าง...ระยะห่างของรักเรา...


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์