นักวิจัย ม.ขอนแก่น นำพืชสมุนไพร 14 ชนิดจากโคกภูตากา อุทยานแห่งชาติภูเวียงศึกษาศักยภาพเบื้องต้นในการป้องกันมะเร็ง เผยผลการทดลองสารสกัดจาก “ใบติ้ว” ผักพื้นบ้านภาคอีสาน มีฤทธิ์ต้านมะเร็งตับ และไม่พบทำลายเซลล์ปกติ ส่วนด้านการรักษาอยู่ในระหว่างการทดลอง พร้อมทดลองในเซลล์เม็ดเลือด เซลล์มะเร็งเต้านม
รศ.ดร.นาถธิดา วีระปรียากูร รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ และอาจารย์ประจำสาขาวิชาเภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ซึ่งได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “การศึกษาคุณค่าของสารสกัดสมุนไพรจากพืชในพื้นที่โคกภูตากา ต่อการป้องกันโรคมะเร็ง” เปิดเผยว่า เมื่อปี 2549 ได้ทำการศึกษาวิจัยสำรวจศักยภาพของพืชในที่โคกภูตากา ภายในอุทยานแห่งชาติภูเวียง จ.ขอนแก่น ซึ่งโครงการนี้เป็นการวิจัยย่อยของศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ทั้งนี้พืชสมุนไพรในโคกภูตากามีพืชสมุนไพรที่หลากหลายนับพันชนิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพืชที่ทานได้ และพบว่ามีพืชบางชนิดมีฤทธิ์ในการต้านออกซิเดชั่น และมีผลต้านการก่อกลายพันธุ์ และมีรายงานพบความสัมพันธ์ของฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นกับการเกิดโรคมะเร็วมาก่อน จึงได้นำเอาพืชจำนวน 14 ชนิดมาศึกษาศักยภาพเบื้องต้นในการป้องกันโรคมะเร็ง อาทิ ต้นมะค่าแดง นมน้อย นมแมว ใบติ้ว เป็นต้น ด้วยวิธีการทางด้านเคมี โดยการนำสารสกัดจากพืชเหล่านี้มาศึกษาในแบบจำลองเซลล์มะเร็งเพาะเลี้ยง โดยนำสารสกัดจากพืชมาเลี้ยงกับเซลล์มะเร็ง เพื่อสังเกตว่าสารสกัดจากพืชสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดการตายของเซลล์มะเร็งหรือไม่ และมีการศึกษาเปรียบเทียบกับเซลล์ปกติที่เพาะเลี้ยงไว้ว่ามีผลต่อเซลล์ปกติหรือไม่
ทั้งนี้ผลจากทดลองตรวจกรองฤทธิ์เบื้องต้น พบว่า ใบติ้ว หรือผักติ้ว ซึ่งเป็นผักพื้นบ้านของภาคอีสานมีผลดีในการยับยั้งป้องกันการเจริญเติบโตของมะเร็งตับ และไม่พบว่าสารสกัดจากใบติ้วมีผลต่อเซลล์ปกติแต่อย่างใด
"อย่างไรก็ตาม แม้ผลการทดลองในเบื้องต้นจากพบว่าใบผิ้วมีฤทธิ์ต้านมะเร็งตับ แต่การวิจัยยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการที่จะต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ซึ่งผู้วิจัยจะต้องทำการทดลองเพื่อหาสารสำคัญในผักติ้ว และศึกษากลไกที่ชัดเจนของพืช ทำให้ในเบื้องต้นยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า ใบติ้วกินแล้วดี มีประโยชน์ สามารถต้านมะเร็งตับได้ ส่วนด้านการรักษานั้นยังอยู่ในขั้นตอนของการทดลองให้แน่ชัด"
รศ.ดร.นาถธิดา กล่าวต่อว่า
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลการวิจัยจะยังไม่เสร็จสิ้น แต่อย่างน้อยก็พบว่า ผักติ้วที่ชาวบ้านนิยมบริโภค นำมาเป็นเครื่องเคียงในอาหารประเภทลาบก้อย หรือแหนมเนือง มีสรรพคุณในการยับยั้งเซลล์มะเร็งตับ ขณะเดียวกันก็ต้องศึกษา วิจัยและทดลองว่า ผักติ้วซึ่งมีรสชาดคล้ายๆ กับใบกระโดนที่มีสารที่ทำให้เกิดโรคนิ่วได้จะมีสารที่ก่อให้เกิดโรคนิ่วหรือไม่ ซึ่งจะต้องมาสกัดเป็นสารบริสุทธิ์และนำไปทดลองต่อไป นอกจากนี้แล้ว ยังได้นำสารสกัดหยาบจากใบติ้วไปเลี้ยงกับเซลล์มะเร็งเม็ดเลือด เซลล์ไต เซลล์มะเร็งเต้านมต่อไป ซึ่งในอนาคตเชื่อว่าจะสามารถต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์เพื่อยับยั้งและป้องกันโรคร้ายอย่างโรคมะเร็งได้