ชี้แจงวัคซีนป้องกัน มะเร็งปากมดลูก
สืบเนื่องจากคอลัมน์ “รู้ไวไขชีวิต” เมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2551 ให้ข้อมูลเรื่อง “คิดก่อนใช้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก” ล่าสุดบริษัทเอ็มเอสดี (ประเทศไทย)สาขาของเมอร์ค แอนด์ โก อิงค์ ผู้ผลิตและคิดค้นวัคซีนที่มีชื่อการค้าว่า Gardasil ได้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับวัคซีนดังต่อไปนี้
1. ที่กล่าวว่าหากเคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว วัคซีนอาจไม่มีประโยชน์ ได้ชี้แจงว่า สถิติการติดเชื้อเอชพีวี (HPV) ในหญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้วส่วนใหญ่จะติดเชื้อ เพียงชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น คนกลุ่มนี้ยังสามารถฉีดวัคซีนได้เพราะอาจได้ประโยชน์ จากการป้องกันในสายพันธุ์อื่น ซึ่งวัคซีนนี้ให้การป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีได้ 4 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ 6, 11, 16 และ 18) เพียงแต่ อาจไม่ได้รับประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกัน จากวัคซีนเมื่อเทียบกับผู้ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์
2. ที่บอกว่าหากได้รับคำชี้ชวนให้ตรวจว่าติดเชื้อเอชพีวีหรือไม่จงปฏิเสธ เพราะผลที่ได้ไม่แน่นอนพอนั้น ข้อมูลจากผู้ผลิตวัคซีนสรุปได้ว่า การตรวจหาสภาวะการติดเชื้อเอชพีวี ชนิดก่อมะเร็งก่อนการฉีดวัคซีนนั้น ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดเครื่องมือและสถานพยาบาลที่สามารถให้บริการได้ จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างยากและค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งอาจไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนเอชพีวี
3. ถ้าคุณอายุเกิน 26 ปี ผลตอบสนองจากการฉีดอาจไม่ดีเท่าคนอายุน้อย ข้อนี้บริษัทรับว่า ตามแนวคิดและหลักการในการให้วัคซีนนี้ หากให้ก่อนเกิดการสัมผัสเชื้อ หรือก่อนการมีเพศสัมพันธ์จะทำให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากวัคซีน พร้อมให้ข้อมูลว่ากำลังขยายผลการทดลองไปสู่กลุ่มอายุ 24-45 ปี และขณะนี้องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ กำลังพิจารณาอนุมัติเพิ่มช่วงอายุเป็น 9-45 ปี คาดว่าสรุปได้ในกลางปีนี้ อย่างไรก็ดี จะตัดสินใจฉีดวัคซีนหรือไม่ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณ ส่วนบุคคลในแง่ความคุ้มค่า ที่จะลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็งปากมดลูกและ โรคอื่นที่เกิดจากเชื้อเอชพีวี
4. ถ้าจะฉีดวัคซีนให้ลูกหลานวัยรุ่น ควรใคร่ครวญให้ดี เพราะอาจทำให้ลูกหลาน เข้าใจได้ว่าส่งสัญญาณ “ไฟเขียว” เรื่องเพศสัมพันธ์ ประเด็นนี้ผู้ผลิตวัคซีนแจงว่า ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาเพื่อสนับสนุนความเชื่อนี้
5. ถ้าสนใจฉีดวัคซีนนี้เพราะเข้าใจว่าไม่ต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอีกต่อไป เป็นความเข้าใจผิดมหันต์ ทางบริษัทให้ข้อมูลเสริมว่า “ยังจำเป็นต้องตรวจคัดกรอง มะเร็ง ปากมดลูกควบคู่ไปด้วย เพราะยังอาจจะมีโอกาสติดเชื้อชนิดอื่นๆ ที่วัคซีนยังป้องกันไม่ครอบคลุมได้ทั้งหมด”
6. เกี่ยวกับระยะเวลาการป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีนั้น ผู้ผลิตชี้แจงว่า จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 5 ปี พบว่าวัคซีนนี้ยังให้ภูมิคุ้มกันในระดับที่สูง โดย ยังคงมีการศึกษาถึงระยะเวลา ของการป้องกันอย่างต่อเนื่อง
ทั้งหมดนี้ย่อมเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจแก่ผู้อ่านอีกครั้งหนึ่งก่อนตัดสินใจว่าจะฉีด “วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก” หรือไม่.