สารอาหารบางอย่างหรือยาบางชนิดจะมีผลกระทบต่อการนอนได้
เช่น สารคาเฟอีนที่อยู่ในชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง หรือแม้กระทั่งน้ำอัดลม ซึ่งหากดื่มมากๆ ก็จะกระตุ้นประสาททำให้นอนหลับยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กๆ จะมีผลมากกว่าผู้ใหญ่ คุณอาจจะไม่เคยสังเกตุเลยว่าลูกหรือเด็กๆ ในบ้าน บางคืนดึกแล้วยังไม่ยอมนอนสักที ปกติจะหลับปุ๋ยไปตั้งนานแล้ว ลองย้อนกลับไปว่าเด็กอาจจะดื่มน้ำอัดลมมากไปหน่อยช่วงตอนเย็นหรือก่อนนอนก็เป็นได้ครับ
นอกจากนี้ยาบางตัวก็ทำให้นอนไม่หลับได้
เช่น ยารักษาไข้หวัดบางชนิด จะมีตัวยาที่สามารถกระตุ้นประสาทและกระตุ้นหัวใจ บางคนที่ไวต่อยามากๆ อาจทำให้เกิดอาการใจเต้นใจสั่น นอนไม่หลับเลย ก็เป็นได้เช่นกัน
การอดนอนนอกจากจะทำให้ไม่สดชื่นแล้ว
ยังมีผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคนเราด้วยอย่างชัดเจน หากเรานอนหลับไม่เพียงพอจะมีผลต่อการทำงานของสมอง จะเชื่องช้า ตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้ไม่ดีเท่าที่ควร การตัดสินใจผิดพลาด ได้มีการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำในแพทย์ประจำบ้าน (แพทย์ที่จบแล้ว มาศึกษาต่อสาขาเฉพาะทาง) ที่จะต้องทำงานอยู่เวรตอนกลางคืน อดหลับอดนอนเป็นประจำ โดยศึกษาจากการใช้เครื่องทดสอบการขับขี่ยานพาหนะ (simulator driving test)ในช่วงที่ทำงานไม่หนัก (ทำงาน 44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) เปรียบเทียบกับช่วงที่ทำงานหนัก ต้องมีการอยู่เวรถี่ และต้องอดนอนบ่อย (ทำงาน 80-90 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ในขณะที่อาจจะได้หรือไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ ผลการทดสอบพบว่าช่วงที่ทำงานหนักอดนอนจะมีการตอบสนองที่ช้าลงกว่าช่วงที่ทำงานเบาๆ ถึงประมาณ 7% และมีความผิดพลาดของการตัดสินใจมากกว่าถึง 40% มีการขับที่ไม่อยู่ในช่องทางที่ถูกต้องมากกว่าช่วงไม่อดนอน 27% มีการขับที่ความเร็วไม่คงที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลามากกว่า 71% เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงที่พักผ่อนอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ยังมีการทดสอบช่วงที่ไม่อดนอนแต่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ให้ได้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดที่ความเข้มข้น 0.4-0.5 เทียบกับช่วงที่ทำงานหนักอดนอน (แต่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์) พบว่าช่วงที่อดนอนมีการขับขี่ที่ความเร็วไม่สม่ำเสมอ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สูงมากกว่าถึง 29% แต่อย่างไรก็ตามอัตราการเกิดอุบัติเหตุใกล้เคียงกัน
อันนี้อุปมาอุปมัยหากเปรียบเทียบการขับขี่ยานพาหนะของคนที่อดนอน
มาเป็นการปฏิบัติงานในด้านต่างๆ ก็คงพอจะนึกภาพออกว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจะต้องบ่อยกว่าช่วงที่ได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่อย่างแน่นอน หากมาดูเรื่องการปฏิบัติงานของบุคลากรสายแพทย์ ซึ่งโดยทั่วไปต้องมีการอยู่เวรยามกันโดยตลอดอยู่แล้ว ผู้ใช้บริการทั้งหลาย ก็ต้องพึงระวัง หากมีอันต้องไปใช้บริการในยามวิกาล ต้องตระหนักว่าแม้ผู้ปฏิบัติงานและโรงพยาบาลเองจะพยายามจะทำให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุดหรือไม่เกิดเลยได้ยิ่งดี แต่บางครั้งเราก็ไม่อาจจะเอาชนะธรรมชาติไปได้ สภาพร่างกายที่อ่อนล้าจากการทำงานในช่วงกลางวัน แล้วต้องมาอยู่เวรยามต่อในช่วงกลางคืน หากต้องทำติดต่อกันหลายๆ วัน ความแข็งแกร่งของร่างกายก็ต้องถูกบั่นทอนไปเป็นลำดับ