นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า
ขณะนี้สภาพอากาศในประเทศไทยร้อนมาก เป็นผลพวงมาจากสภาวะโลกร้อน ทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยหลายโรค เช่น โรคในระบบทางเดินอาหารที่เกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไป ซึ่งเกิดบ่อยที่สุด แต่ยังมีโรคที่ไม่ค่อยพูดถึงคือ โรคลมแดด มักเกิดในช่วงที่สภาพอากาศร้อนจัด
นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัด สธ. กล่าวว่า
อาการผิดปกติที่เกิดจากความร้อนมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับที่ไม่เป็นอันตราย ที่รู้จักกันทั่วไปคือ เป็นลม มีอาการหน้ามืด เป็นตะคริว หมดแรงจากความร้อน อาจมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียนด้วย แต่ที่อันตรายที่สุดคือการเป็นลมแดด (Heat stroke) เป็นภาวะวิกฤตของร่างกายที่ไม่สามารถควบคุมความร้อนได้ เกิดจากการได้รับความร้อนหรืออยู่มากเกิน ทำให้สมองไม่ทำงาน ไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ และการควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติเกิน 40 องศาเซลเซียส ซึ่งต้องให้การรักษาอย่างรีบด่วน
"สัญญาณสำคัญของโรคฮีทสโตรก ก็คือ ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน ซึ่งต่างจากการเพลียจากแดดทั่วๆ ไป ที่จะพบว่ามีเหงื่อออกด้วย หากเกิดอาการดังกล่าวจะต้องหยุดพักทันที โดยให้ผู้ป่วยเข้าที่ร่ม นอนราบ ยกเท้าทั้งสองข้างให้สูงเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงที่สมอง ถอดเสื้อผ้าออกระบายความร้อน ให้พัดลมช่วยเป่า ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ เชิงกราน ศีรษะ หรือเทน้ำเย็นราดลงบนตัวเลย เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลงโดยเร็วที่สุด และรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาโดยเร็วที่สุด ส่วนในรายที่อาการยังไม่มาก ควรให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ ประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว" นพ.ปราชญ์กล่าว