ฝากไว้ซักนิด...พิจารณาไปพร้อมกับงานศพ
พระสวด
“กุสะลา ธัมมา อะกุสะลา ธัมมา...”พระสวดไปใจยังวุ่นวาย รับรู้ไม่ได้ว่าสวดอะไร คงสวดให้ผู้ตายฟัง เรานั่งเฉยๆก็พอ ฟังสวดเพื่อมารยาท คงพลาดอานิสงส์ ใจคงไม่เข้าใจ ถ้าฟังไป ภาวนาไป ใจคงเห็นความจริง ว่าที่นอนนิ่งอยู่นั้นมิใช่ใคร คนเคยมีหัวใจเช่นเรา วันนี้เป็นโอกาสเขา “พรุ่งนี้อาจเป็นโอกาสเรา”
เคาะโลง
เสียงเคาะโลง มีเสียงพูดเบาๆจากผู้เคาะว่า”รับศีลนะ ทานข้าวนะ ฟังพระสวดนะ” ทำไปเพื่ออะไร หรือเพียงแค่เคยทำตามกันมา หรือว่า “เคาะประชดคนเป็น” ในยามที่มีชีวิตอยู่ เตือนแค่ไหนก็เตือนเถิด ดูเหมือนไม่สนใจกับสิ่งนี้เหล่านี้ ในยามนี้ เตือนไปก็คงไร้ความหมาย คนตายจะไปรับรู้อะไร เคาะเตือนคนเป็น ให้เห็นถึงความจริงที่ว่า “สิ่งที่ดี เร่งขวนขวาย” วัวควาย ช้าง ม้า ยามมันมรณาประโยชน์ได้ มนุษย์นี่ซิ เน่าเปื่อยสูญเปล่าไป ดีชั่วที่ทำไว้ส่องให้โลกเห็น
อาหารหน้าโลง
ชีวิตใครบางคนถ้าไม่ตาย ก็คงไม่มีใครให้ความสนใจมากมายเช่นนี้ อาหาร ผลไม้นานาชนิด จัดเรียงรายด้านหน้าโลง สิ่งที่ผู้ตายชอบใจแพงแค่ไหนก็แสวงหามา
เพื่อเป็นเครื่องเซ่นแด่ดวงวิญญาณ ถ้าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ในยามผู้ตายมีชีวิตอยู่ เราคงได้เห็นสีหน้าและได้รับคำขอบใจ อาหารก็ยังคงเป็นประโยชน์แก่ผู้รับด้วย แต่เวลานี้... ทุกๆสิ่ง ทุกๆอย่างยังคงอยู่สภาพเดิม บุคคลที่จะรับวัตถุสิ่งของเรา ขณะนี้เขาไม่รับรู้อะไรแล้ว หรือว่าทำไป เพียงเพื่อสนองความรู้สึกเรา ในยามมีชีวิตถ้าเราแสดงออก ซึ่งความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้แก่กัน คงจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าเหตุการณ์ “อาหารหน้าโลง”เป็นแน่
ชุดสีดำ
ในยามสูญเสีย บุคคลอันเป็นที่รัก หรือญาติมิตร คงไม่มีใครคิดที่จะดีใจ พกพาความสุขและรอยยิ้มหรอกนะ สีดำ...เป็นสีแห่งความทุกข์ โลกให้ความหมายไว้เช่นนั้น ในยามมีงานศพ เรามักพบแต่คนใส่ชุดสีดำส่วนมาก บ่งบอกว่า “กำลังไว้ทุกข์” ความจริงแล้วความทุกข์ของคนใช่ว่าจะมีแต่เรื่องความตาย สิ่งเดียวนั้นหาได้ไม่ “การเกิด การแก่ การเจ็บ ความผิดหวัง” สิ่งเหล่านี้ก็คือความทุกข์ทั้งสิ้น การใส่ชุดดำมางานศพเพื่อบอกว่าเป็นการไว้ทุกข์ เป็นการทำตามประเพณี แต่ถ้าจะให้ดี ควรไว้ทุกข์ด้วยใจ เพ่งถึงสภาวะความพลัดพราก ความไม่แน่นอน และบอกกับตัวเองว่า เหตุการณ์เช่นนี้ คงเกิดขึ้นกับตัวเรา
ทอดผ้าบังสุกุล
เสียงพระบริกรรม ในขณะพิจารณาผ้าบังสุกุลว่า... “อนิจจา วะตะ สังขารา อุปปาทะวะธัมมิโน อุปปัตชิตะวา นิรุชฌันติเตสัง วูปะสะโม สุโข” แปลความว่า...ร่างกายนี่หนอ ไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แตกสลายเป็นธรรมดา นั่นแหละหนา “คือ ความสงบสุข” บทพิจารณาบทนี้ ถ้ามีในใจใคร ถ้าสิ้นลมหายใจไปดูไม่จำเป็น ที่จะให้พระรูปใด ต้องมาพิจารณา แต่...ดูเหมือนว่า คนจะไม่กล้าพิจารณาเพราะกลัวว่า “จะตายไว”