ภัยร้ายรายวัน : เคราะห์ซ้ำ กรรมซัด!?
หากของมีค่าราคาแพง อย่าง รถยนต์ ของคุณถูกขโมย นอกจากจะเสียทรัพย์ เชื่อว่าเป็นใครก็ต้องเสียใจ จะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับความยากง่ายในการรวบรวมเงินที่ใช้ซื้อความสะดวกสบายในการเดินทาง บางคนเอาไว้ทำมาหากิน และขึ้นอยู่กับคนๆ นั้นจะทำใจได้มากน้อยแค่ไหน
และหากเป็นไปได้ ทุกๆ คนก็คงอยากจะได้มันคืน แม้จะต้องตามหา หรือเสียค่าใช้จ่ายในการสืบหาเท่าไหร่ หากคุ้มค่าใครๆ ก็ยอมทุ่ม
ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปจร.ตร.) แจ้งเตือนผู้เคราะห์ร้ายให้ระวังจะมีเคราะห์ซ้ำสอง เพราะมีกลุ่มมิจฉาชีพหัวหมอ อาศัยความเสียใจและความต้องการได้รถคืนของผู้เคราะห์ร้าย โดยการโทรศัพท์ไปตามสถานีวิทยุรายงานดังที่ช่วยเหลือประชาชน อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีเบาะแสที่เป็นประโยชน์กับผู้เคราะห์ร้าย ขอเบอร์โทรติดต่อเพื่อประสานงาน
เมื่อมีเบอร์โทรอยู่ในมือ คนพวกนี้จะติดต่อไปหา อ้างตัวอย่างน่าเชื่อถือ เล่าเรื่องราวว่าพบรถยนต์ที่หายไปของเหยื่อถูกส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รอการส่งขายต่อ แต่พวกเขาสามารถจับไว้ได้ หากต้องการได้รับรถยนต์ เหยื่อจะต้องเสียหายใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการขนย้ายข้ามประเทศเอง ต้องใช้เงิน 10,000-20,000 บาท
คนพวกนั้น จะให้เหยื่อโอนเงินเข้าบัญชี พร้อมอ้างว่าใช้เวลาไม่นานเกินรอในการดำเนินการส่งรถกลับ และเมื่อเหยื่อหลงเชื่อ โอนเงินไปให้ พวกเขาก็จะไม่ติดต่อคุณกลับมา หรือเรียกว่า เชิดเงิน แล้วหายเข้ากลีบเมฆ!
ทั้งรถยนต์ที่หายอยู่ก่อนหน้า แถมยังจะถูกหลอกเอาเงินซ้ำ อย่างนี้จะไม่เรียกว่า เคราะห์ซ้ำ กรรมซัด ได้อย่างไร?!
ทางที่ดี หากคุณมีรถยนต์ ควรจะจอดรถในที่ๆ มีความปลอดภัย ไม่จอดรถในที่เปลี่ยวไว้นานๆ ใช้อุปกรณ์ป้องกันการขโมยให้แน่นหนา แต่หากรถยนต์สูญหาย ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเป็นทางการ และจำไว้ว่าการดำเนินการใดๆ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น ควรจะต้องพบกันตามสถานที่ทำการทางราชการ ทั้งเจ้าหน้าที่ยังต้องเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ให้เราเห็นจริง อย่าหลงเชื่อการกล่าวอ้างทางโทรศัพท์ ทั้งๆ ที่คุณยังไม่เคยพบกับคนที่อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ