การมีเลือดออกขณะตั้งครรภ์

การมีเลือดออกขณะตั้งครรภ์

โดย นพ.ธีรศักดิ์   ธำรงธีระกุล และศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากวิภาวดี

การมีเลือดออกขณะตั้งครรภ์ พบได้บ่อย และสร้างความตระหนกและกังวลใจให้กับผู้ที่ตั้งครรภ์เป็นอย่างมาก 

สาเหตุของการมีเลือดออก  มีหลายสาเหตุมาก  มีทั้งมีและไม่มีผลกระทบต่อการตั้งครรภ์  หรือต่อสุขภาพของมารดาและทารก  ซึ่งอาจแบ่งออกได้ตามสาเหตุว่าไม่เกี่ยวเนื่องกับการตั้งครรภ์  และเกี่ยวเนื่องกับการตั้งครรภ์

สาเหตุที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับการตั้งครรภ์    ขณะตั้งครรภ์อาจมีเลือดออกจากอวัยวะสืบพันธุ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์  ได้แก่

1. เลือดออกจากริดสีดวงทวาร  แล้วเข้าใจผิดว่าเป็นเลือดออกทางช่องคลอด

2. เลือดออกจากทางเดินปัสสาวะ  เช่น เป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะ  กระเพาะปัสสาวะอักเสบ

3. เกิดจากบาดเจ็บอวัยวะเพศ  จากอุบัติเหตุหรือจากการมีเพศสัมพันธ์

4. โรคของอวัยวะสืบพันธุ์ส่วนล่าง เช่น แผลจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (หูดหงอนไก่, แผลเริมอ่อน ฯลฯ)  ปากมดลูกอักเสบ  เยื่อบุมดลูกขึ้นผิดที่ที่ปากมดลูก, ติ่งเนื้อ (polyp) ของปากมดลูก  รวมทั้งเนื้องอก เช่น เนื้องอกปากมดลูก  มะเร็งของปากมดลูก

สาเหตุที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์

การมีเลือดออกช่วงครึ่งแรกของการตั้งครรภ์ (ก่อน 20 สัปดาห์)

1. การแท้งบุตร
2. การตั้งครรภ์นอกมดลูก (ectopic preg.)
3. การท้องไข่ปลาดุก (molar preg.)


การแท้งบุตร
เลือดออกขณะครึ่งแรกของการตั้งครรภ์หรือตั้งครรภ์ใหม่ ๆ ในช่วง 3 เดือนแรก สิ่งที่เรากลัวคือการแท้งบุตร เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะทำการตรวจและติดตาม เพื่อให้แน่ใจว่าใช่การแท้งบุตรหรือไม่ ได้แก่ การซักประวัติเหตุการณ์เลือดออก การตรวจภายใน การทำอัลตราซาวนด์ดูถุงของการตั้งครรภ์และทารก (ในระยะแรก ๆ ของการตั้งครรภ์ การตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอดจะได้รายละเอียดที่แม่นยำกว่าการตรวจผ่านทางหน้าท้อง) การตรวจฮอร์โมนของการตั้งครรภ์และการตกไข่ (HCG และ Progesterone) เพื่อดูความสมบูรณ์ของการตั้งครรภ์

การมีเลือดออกระหว่างช่วงตั้งครรภ์ในระยะแรกนี้ การตรวจละเอียดจะช่วยบอกด้วยว่าเป็นการตั้งครรภ์ในมดลูกหรือนอกมดลูก (แต่ละคนมีโอกาสท้องนอกมดลูก 1 ใน 60)

การมีเลือดออกจากมดลูกไม่ได้ว่าจะเกิดการแท้งเสมอไป มีหลายคนที่มีเลือดออกขณะตั้งครรภ์ 1-2 เดือนแรก และไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้น เข้าใจว่ามีเลือดออกขณะมีการฝังตัวของตัวอ่อนในโพรงมดลูก ผู้เขียนเคยพบในคนที่มีเนื้องอกในมดลูกแล้วมีการฝังตัวใกล้เคียงกับเนื้องอกมดลูกและมีเลือดออกเป็นเวลาหลายวันโดยเห็นตำแหน่งของเลือดออกจากการตรวจอัลตร้าซาวนด์

ถ้าเกิดจากที่จะแท้งบุตรส่วนใหญ่จะเกิดการแท้งขึ้นภายใน 12 สัปดาห์แรก ซึ่งเกิดขึ้นได้ในคนตั้งครรภ์ทั่ว ๆ ไป 15-20 % ส่วนใหญ่สาเหตุเกิดจากตัวอ่อนหรือทารกมีความผิดปกติ ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ เมื่อทารกเสียชีวิต ก็จะมีอาการตามมา โดยเริ่มต้นที่มีเลือดออกก่อน แล้วมีอาการปวดท้องจากการบีบตัวของมดลูก และมีเนื้อเยื่อของตัวอ่อนออกมา

มีการศึกษาทำสถิติว่าคนตั้งครรภ์มีเลือดออกร่วมกับการปวดท้องน้อย มีการแท้งเกิดขึ้น 50% เมื่อมีการแท้งในขนาดของครรภ์น้อยกว่า 8 สัปดาห์ มักหลุดมาเองหมด ถ้าเกิน 8 สัปดาห์ มักออกมาเองไม่หมด ต้องให้แพทย์ช่วยเอาออก โดยการดูดด้วยสุญญากาศ หรือขูดมดลูก

ถ้าคุณตั้งครรภ์มีเลือดออกแล้วมีเศษชิ้นเนื้อออกมาด้วย ให้เก็บไว้ให้แพทย์ดูด้วยว่าเป็นเนื้อของทารกหรือรกหรือเปล่า ถ้าใช่แปลว่าคุณมีการแท้งออกมา และเป็นการแท้งท้องในมดลูก ถ้าไม่ใช่ส่วนของทารกหรือรก เป็นเยื่อบุมดลูกธรรมดา อาจไม่ใช่การแท้งหรือแท้งยังไม่ออก หรือเป็นการท้องนอกมดลูกได้ (ซึ่งอาจต้องมีการรักษาแบบท้องนอกมดลูกรีบด่วน)

การแท้งโดยทั่วไปมักเกิดจากความผิดปกติของตัวอ่อน ยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าการออกแรงยกของ การออกกำลังกายและการมีเพศสัมพันธ์ การนั่งรถทางไกล การนั่งเครื่องบินโดยสาร เป็นสาเหตุทำให้เกิดการแท้ง และเมื่อมีการแท้งแล้วไม่ได้หมายความว่าจะท้องอีกไม่ได้ นอกจากคนที่แท้ง 2-3 ครั้งติด ๆ กัน ควรจะให้แพทย์หาสาเหตุว่ามีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกายเรา

การตั้งครรภ์นอกมดลูก คือ การตั้งครรภ์ที่ตัวอ่อนไปเกาะที่อื่นนอกจากในโพรงมดลูก ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ท่อนำไข่ (เดินทางไปไม่ถึงมดลูก) เกิดขึ้นได้ 1 ใน 60 ของการตั้งครรภ์ทั่วไป มีอาการเริ่มแรกคล้ายการตั้งครรภ์ธรรมดา และจบด้วยการมีเลือดออก ปวดท้องเหมือนการแท้ง แต่การท้องนอกมดลูกมักทำให้ท่อนำไข่แตกก่อนแท้ง และทำให้มีเลือดออกในช่องท้องได้เป็นจำนวนมาก จนทำให้มีอาการช็อกได้ถ้าตรวจรักษาช้า ท้องนอกมดลูกจะเกิดมากขึ้นในคนที่มีอักเสบในอุ้งเชิงกรานบ่อย ๆ เคยผ่าตัดบริเวณท่อนำไข่ คนที่เคยท้องนอกมดลูกมาก่อน (มีโอกาสเกิดซ้ำ 15%) และคนที่มีประวัติมีบุตรยาก

การตั้งครรภ์ไข่ปลาดุก พบได้น้อย เป็นการท้องในมดลูก แต่ผิดปกติคือทารกไม่เจริญแต่มีลักษณะรกผิดปกติ ลักษณะเป็นเนื้องอกของรก การตั้งครรภ์ระยะแรก ๆ อาจจะไม่ทราบแต่ต่อมาท้องมักโตกว่าปกติ และมีอาการเลือดออก ซึ่งอาจมีเศษเนื้อเยื่อลักษณะคล้ายเม็ดสาคูหรือถุงไข่ปลาหลุดออกมาด้วย ทำอัลตราซาวนด์ไม่เห็นตัวเด็ก ไม่เห็นถุงของการตั้งครรภ์เห็นแต่เนื้อรก ถ้าเป็นแบบนี้ต้องขูดมดลูกหรือดูดออก แล้วติดตามดูแลมากกว่าปกติ

การมีเลือดออกครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ (เกิน 20 สัปดาห์)
การมีเลือดออกในครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ต้องเอาใจใส่มากขึ้น เพราะมักเป็นความผิดปกติของการตั้งครรภ์ และถ้ามีเลือดออกมาก ๆ มักเป็นความผิดปกติของรก ได้แก่ ภาวะรกเกาะต่ำ รกลอกตัวก่อนกำหนด และอาจเป็นอาการของการคลอดก่อนกำหนด

ภาวะรกเกาะต่ำ หมายถึง รกมาปิดปากมดลูกไว้ ปกติรกต้องไม่เกาะตรงปากมดลูก เพราะเวลาจะคลอด ปากมดลูกจะต้องขยายตัวออกให้เด็กผ่านออกมา ถ้ารกเกาะที่ปากมดลูกเวลามดลูกหดตัวให้ปากมดลูกเปิดจะทำให้รกบริเวณปากมดลูกลอกออก (เพราะรกขยายตัวด้วยไม่ได้) จึงทำให้เลือดออกมาโดยทั่วไปก็เป็นเลือดของแม่ออกจากปากมดลูกที่ฉีกขาด มักเกิดตอนที่ปากมดลูกยืดตัวเตรียมจะเปิด มักเป็นก่อนถึงกำหนดคลอดจริง ลักษณะคือ มีเลือดออกทางช่องคลอดมากโดยไม่ปวดท้อง ถ้าเลือดออกน้อย ๆ ก็รอดูอาการได้ ถ้าออกมากต้องรีบให้คลอดโดยการผ่าตัด ไม่สามารถคลอดปกติได้ ถ้าจำเป็นต้องคลอดก่อนถึงกำหนดคลอดมาก ๆ อาจมีปัญหาทารกตัวเล็กเกินไป


ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด
ปกติรกจะมีหน้าที่ถ่ายเทออกซิเจน อาหารและของเสียระหว่างทารกและแม่ ทำให้ทารกเจริญเติบโตโดยรกติดกับเยื่อบุโพรงมดลูกซึ่งอยู่ที่ผนังด้านในของมดลูก และเมื่อทารกคลอดก็จะลอกตัวออกมาทางผนังของมดลูก แล้วคลอดตามทารกออกมา แต่มีบางคราวที่รกลอกตัวออกมาจากผนังมดลูกก่อนการคลอด ทำให้มีเลือดระหว่างรกกับผนังมดลูก แล้วไหลเซาะออกมาทางปากมดลูก ทำให้เรารู้สึกว่ามีเลือดออก

การเกิดลักษณะนี้มีผลเสียต่อทารกคือ ทำให้ได้รับออกซิเจนจากแม่น้อยลง เป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะถ้าเลือดที่ออกมาเซาะให้เกิดการแยกตัวมากขึ้น ๆ ธรรมชาติจะทำให้มดลูกบีบตัวให้คลอดทารกออกมาโดยเร็ว คนที่มีความเสี่ยงต่อรกลอกตัวก่อนกำหนดคือ

- คนที่เคยคลอดบุตรมาก่อน (เป็นท้องหลัง ๆ )
- อายุมากกว่า 35 ปี
- เคยมีประวัติรกลอกตัวก่อนกำหนดมาก่อน
- มีโรคเลือดบางอย่าง
- มีความดันโลหิตสูง
- ถูกกระแทกที่ท้องรุนแรง
- ติดยาเสพติด หรือสูบบุหรี่

อาการที่เกิดขึ้น คือ จะมีเลือดออกพร้อมกับมดลูกบีบตัวรุนแรง มีอาการปวดท้อง ถ้าเป็นมากจะฟังหัวใจทารกได้ช้าลง แสดงว่าทารกขาดออกซิเจนอยู่ในระดับเป็นอันตราย ทารกเสียชีวิตก่อนได้คลอดออกมา

การคลอดก่อนกำหนด หมายถึง มีการเข้าสู่การคลอดก่อนอายุครรภ์ถึง 37 สัปดาห์ ลักษณะจะต่างจาก 2 เหตุการณ์ที่กล่าวก่อนหน้านี้คือ จะมีการบีบตัวของมดลูกก่อน แล้วเริ่มมีตกขาวมาก ( เป็นมูกถูกไล่ออกมาจากปากมดลูก) อาจมีเลือดปนออกมา ถ้าเกิดขึ้นก่อน 37 สัปดาห์ไม่มากก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าต่ำกว่า 34-35 สัปดาห์อาจมีปัญหากับทารก

อาการคลอดก่อนกำหนดโดยรวม คือ
1. มีมูก หรือ เลือด หรือ น้ำออกทางช่องคลอด มีมากขึ้น
2. ปวดท้องน้อย ร้าวไปด้านหลัง
3. มดลูกแข็งตัวเป็นระยะ ๆ

จะทำอย่างไรเมื่อมีเลือดออกขณะตั้งครรภ์
ถ้ามีเลือดออกในครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ ควรไปโรงพยาบาลทันทีเพราะอาจจะเกิดปัญหาขึ้น ถ้าเป็นการตั้งครรภ์ครึ่งแรกเลือดออกไม่มาก ไม่ปวดท้อง อาจไม่จำเป็นต้องรีบร้อนมากเท่า แต่ก็ควรปรึกษาแพทย์เช่นกัน แต่ถ้าเลือดออกมากและมีอาการปวดท้องด้วยก็ไม่ควรนอนใจ

สรุป
การมีเลือดออกขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะที่ออกไม่มาก มักเป็นสิ่งที่ไม่เป็นอันตราย แต่ก็อาจเป็นสัญญาณอันตรายได้ จึงควรไปรับการตรวจทุกครั้งที่มีเลือดออกเพื่อให้ได้การวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง การรักษาที่ทันท่วงทีอาจช่วยท่านและบุตรในครรภ์ได้

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์