พักใจ:ทำความรู้จัก นาร์กีส องคาพยพแห่งความตาย

พักใจ:ทำความรู้จัก นาร์กีส องคาพยพแห่งความตาย

"นาร์กีส (Cyclone Nargis)" เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงร้ายกาจของ "พายุหมุนเขตร้อน" ที่มีต่อมนุษย์ได้ดีที่สุดตัวอย่างหนึ่ง แต่นาร์กีสไม่ใช่อิทธิปาฏิหาริย์ หรือการลงโทษของพระผู้เป็นเจ้าต่อผู้หนึ่งผู้ใด ประเทศหนึ่งประเทศใด ตรงกันข้าม มันเกิดขึ้นโดยธรรมชาติสภาวะ เติบใหญ่มีอิทธิฤทธิ์ร้ายแรงโดยธรรมชาติ และเคลื่อนตัวไปในทิศทางซึ่งกำหนดโดยสภาวะแวดล้อมของธรรมชาติด้วยเช่นเดียวกัน


หากจะยึดถือว่าเป็นการลงโทษ นาร์กีส จึงน่าจะเป็นการลงโทษของธรรมชาติต่อมนุษยชาติมากกว่าอย่างอื่น


ต่อไปนี้คือคำอธิบายโดยสังเขปถึงธรรมชาติ สภาวะที่กอปรขึ้นเป็นองคาพยพของ "นาร์กีส" ที่เป็น "องคาพยพแห่งความตาย" ของชาวพม่านับหมื่นนับแสนคน


0ไซโคลน, ไต้ฝุ่น และเฮอร์ริเคน


ไซโคลน, ไต้ฝุ่น และเฮอร์ริเคน เป็นพายุหมุนในเขตร้อนทั้งหมด ถิ่นกำเนิดของมันมักอยู่ในมหาสมุทรบริเวณใกล้กับเส้นศูนย์สูตร ที่ซึ่งมีอุณหภูมิของน้ำสูง (27 องศาเซลเชียสหรือมากกว่า) และเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "คอริโอลิส เอฟเฟ็คต์" รุนแรง


อุณหภูมิสูง ทำให้เกิดการสะสมของไอน้ำ ก่อตัวเป็นเมฆและฝน "คอริโอลิส เอฟเฟ็คต์" เป็นต้นเหตุให้มันหมุน ยิ่งสะสมยิ่งมีขนาดใหญ่ ยิ่งหมุนเร็วและรุนแรงมากขึ้น


"คอริโอลิส เอฟเฟ็คต์" เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เพราะเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากการที่ "โลกหมุน"


การหมุนของโลก ทำให้เกิดแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลาง เมื่อโลกหมุนอะไรก็ตามที่เคลื่อนที่อยู่บนผิวโลกจะถูกแรงเหวี่ยงจากการหมุนของโลก กระทบให้หันเหทิศทาง หากสิ่งนั้นเคลื่อนที่อยู่ในซีกโลกตอนเหนือของเส้นศูนย์สูตร มันจะเหไปทางขวา หากเคลื่อนที่อยู่ในซีกโลกทางใต้เส้นศูนย์สูตรลงมามันจะเหไปทางซ้าย


สัณฐานที่โป่งกลางเหมือนผลส้มของโลก ทำให้แรงเหวี่ยงบริเวณเส้นศูนย์สูตรและพื้นที่ใกล้เคียงสูงมากกว่าที่อื่น ทำให้ "คอริโอลิส เอฟเฟ็คต์" บริเวณนี้รุนแรงกว่าพื้นที่อื่น


พายุหมุนในเขตร้อน มักเกิดขึ้นบ่อยๆ ในแหล่งจำเพาะที่มีธรรมชาติสภาวะเอื้อต่อการเกิด เช่น บริเวณนอกชายฝั่งด้านตะวันตกของทวีปแอฟริกา มักเคลื่อนตัวขึ้นเหนือผ่านหมู่เกาะแคริบเบียนไปขึ้นฝั่งบริเวณรัฐฟลอริดา หรือข้ามอ่าวเม็กซิโกไปยังรัฐหลุยเซียน่าของสหรัฐอเมริกา


พายุหมุนในบริเวณดังกล่าวเรียกว่า "เฮอร์ริเคน"


บริเวณมหาสมุทรอินเดียตอนล่าง ใกล้กับเส้นศูนย์สูตรก็เป็นแหล่งกำเนิดพายุหมุน มักเคลื่อนตัวขึ้นเหนือเข้าถล่มบังกลาเทศ หรือในกรณีของนาร์กีส ก็คือชายฝั่งด้านตะวันตกของพม่าและไทย
 
พายุหมุนในบริเวณนี้ เรียกกันว่า "ไซโคลน"


พื้นที่กว้างใหญ่บริเวณทะเลจีนใต้ก็เกิดพายุหมุนขึ้นบ่อยครั้งเช่นเดียวกัน มักเคลื่อนตัวเข้าถล่มฟิลิปปินส์ เข้าสู่ชายฝั่งด้านตะวันออกของเวียดนาม หรือเลยขึ้นไปทางเหนือถล่มไต้หวัน หรือพื้นที่บริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของจีน


พายุหมุนในบริเวณนี้ ถูกขนานนามว่า "ไต้ฝุ่น"


0 นาร์กีส เริ่มต้นได้อย่างไร?


น่าสนใจอย่างยิ่งที่ลมพายุรุนแรงอย่างนาร์กีส เริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อเกิดสภาวะลมสงบหรือบางเบา เปิดโอกาสให้ความชื้นในอากาศรวมตัวเข้าเป็นเมฆ


หากภาวะลมสงบคงอยู่นานพอที่จะไม่พัดเมฆที่เพิ่งก่อตัวกระจายไปก่อน มันก็จะเริ่มสะสมและขยายตัวใหญ่ขึ้น


อุณหภูมิสูงของน้ำและอากาศในบริเวณพื้นผิวทำให้น้ำระเหยเพิ่มมากขึ้น ความกดอากาศในบริเวณดังกล่าวเบาบางลง มวลอากาศเคลื่อนที่ขึ้นสู่ด้านบนและมีมวลอากาศที่เย็นกว่าไหลเข้ามาแทนที่อย่างต่อเนื่อง


เเละสืบเนื่องเพราะ "คอริโอลิส เอฟเฟ็คต์" อากาศที่เคลื่อนเข้ามา ถูกเหทิศทางไปทางขวาเรื่อยๆ มวลอากาศที่เคลื่อนตัวชักนำให้เมฆเริ่มเคลื่อนตัวหมุนไปในทิศทางทวนเข็มนาฬิกา


(ดูภาพประกอบที่ 1)


0 ดีเปรสชั่น


เมื่อมวลอากาศที่เต็มไปด้วยความชื้นจากไอน้ำที่ระเหยจากทะเลหรือมหาสมุทรเคลื่อนตัวขึ้นสู่ด้านบน มันจะเริ่มเย็นตัวลงไอน้ำเริ่มควบแน่นรวมตัวเข้าเป็นหยดน้ำและเป็นฝนในที่สุด


ในกระบวนการควบแน่นของไอน้ำเพื่อกลายเป็นฝนนั้น จะมีการปลดปล่อยความร้อนแฝงออกมาเมื่อมีการเปลี่ยนสถานะจากไอน้ำเป็นน้ำและฝน ผลลัพธ์ก็คือ ความร้อนแฝงที่ปลดปล่อยออกมาทำให้บริเวณโดยรอบอุ่นขึ้นกว่าเดิมและขยายบริเวณกว้างออกไปกว่าเดิม


อาณาบริเวณของก้อนเมฆก็ยิ่งขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ใหญ่ขึ้นตามไปด้วย


และเนื่องจากมวลอากาศร้อนจะเบากว่ามวลอากาศเย็น มันจะลอยตัวขึ้นสูงและจะดูดเอาอากาศเย็นโดยรอบเข้ามาแทนที่เพิ่มมากขึ้น ความเร็วของลมที่ถูกดูดเข้าหาศูนย์กลางเพิ่มมากขึ้น ความเร็วของการหมุนของเมฆทวีขึ้น


สภาวะนี้รู้จักกันในชื่อ ดีเปรสชั่นเขตร้อน หรือที่เราคุ้นมากกว่าในชื่อ "พายุดีเปรสชั่น" นั่นเอง


(ดูภาพประกอบที่ 2)


0 พายุโซนร้อน


หากสภาวการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่อง เมฆก้อนนั้นจะยิ่งเพิ่มความกว้างและความหนามากขึ้นเรื่อยๆ กำลังลมที่ถูกดูดวนเข้าหาศูนย์กลางทวีขึ้นเรื่อยๆ
 
เมื่อใดก็ตามที่ความเร็วลมดังกล่าวเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ระหว่าง 35-64 น็อต (63-117 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) และตัวพายุจะก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เริ่มเป็นวงกลมมากขึ้น มันจะนำพาตัวเองเข้าสู่อีกขั้นตอนหนึ่ง นั่นคือการกลายสภาพเป็น "พายุโซนร้อน"


โดยทั่วไปแล้ว นักอุตุนิยมวิทยาจะเริ่มตั้งชื่อมันอย่างเป็นทางการ เพื่อใช้ในการติดตามพัฒนาการของมันอย่างใกล้ชิดต่อไป


(ดูภาพประกอบที่ 3)


0 ไซโคลน


ถ้าหากสภาวะแวดล้อมยังไม่เปลี่ยนแปลง กระบวนการการเกิดพายุหมุนก็จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องสั่งสมความรุนแรงและความเร็วมากขึ้นตามลำดับ เมื่อใดก็ตามที่มันสามารถคงความเร็วลมไว้ที่ 64 น็อต (117 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ขึ้นไปได้ ก็จะถูกเรียกขานอย่างเป็นทางการว่า "พายุไซโคลน" (หรือไต้ฝุ่น หรือเฮอร์ริเคน)


โดยทั่วไปแล้ว ขนาดของไซโคลนจะกว้างราว 500 กิโลเมตร แต่อาจมากหรือน้อยกว่านั้นได้หลากหลายขนาดมาก


ขนาดไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ถึงความรุนแรงและอำนาจทำลายล้างของมัน ตรงกันข้าม เฮอร์ริเคนแอนดรูว์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพายุหมุนเขตร้อนที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 100 ปี กลับมีขนาดค่อนข้างเล็กด้วยซ้ำไป


(ดูภาพประกอบที่ 4)


0 ที่ใจกลางพายุ


หากเราตัดขวางก้อนเมฆพายุหมุนเพื่อเข้าไปตรวจสอบดูภายใน จะพบเห็นเมฆพายุหนาทึบบิดตัววนเป็นวง ด้านล่างลงไปจะเต็มไปด้วยฟ้าแลบ ฟ้าผ่า และพายุฝนหนักหน่วงรุนแรง ที่ใจกลางคือบริเวณ "ดวงตา" พายุ ซึ่งเป็นบริเวณที่ค่อนข้างนิ่งโดยมีทุกอย่างหมุนวนอยู่โดยรอบเป็นกำแพงแห่งความโกลาหล ยิ่งลมพายุหมุนคว้างโดยรอบใจกลางของพายุมากเท่าใด คอริโอลิส เอฟเฟ็คต์ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณจนกักล้อมไม่ให้อากาศเข้าถึงบริเวณ "ดวงตา" พายุ ได้แต่โค้งเป็นวงอยู่โดยรอบ จะมีก็แต่อากาศเบาบางที่ไหลลงมาจากด้านบน บริเวณ "ดวงตา" ของพายุจึงมักเห็นท้องฟ้าโปร่ง แจ่มใส และความเร็วลมต่ำอย่างยิ่ง


(ดูภาพประกอบที่ 5)


0 เส้นทางหายนะแห่งนาร์กีส


นาร์กีส เริ่มก่อตัวเป็นพายุโซนร้อนในมหาสมุทรอินเดียเมื่อราวปลายเดือนเมษายน ถึงวันที่ 28 เมษายน มันเคลื่อนตัวขึ้นเหนือ อยู่นอกชายฝั่งห่างจากเมืองเชนไน (มัทราส เดิม) ของอินเดียราว 544 กิโลเมตร ในบริเวณอ่าวเบงกอล


ถึงตอนนั้นความเร็วลมของมันทวีขึ้นจนกลายเป็นพายุไซโคลน และได้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า "นาร์กีส"


วันที่ 1 พฤษภาคม นาร์กีสเปลี่ยนทิศทางแทนที่จะเคลื่อนเข้าสู่อ่าวเบงกอลและบังกลาเทศอย่างที่คาดหมายกันในตอนแรก มันเริ่มเหออกไปในทิศทางตะวันออกเฉียงเหนือ


เที่ยงคืนวันที่ 2 พฤษภาคม นาร์กีสขึ้นฝั่งที่บริเวณพื้นที่ที่ราบลุ่มสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี ด้วยความเร็วลม 216 กิโลเมตรต่อชั่วโมง


0 อำนาจทำลายล้าง


เราจำแนกระดับของพายุหมุนในเขตร้อนด้วยมาตรวัดที่เรียกว่า "ซาฟฟีร์-ซิมป์สัน สเกล" ซึ่งจัดระดับของไซโคลน, ไต้ฝุ่น หรือเฮอร์ริเคน ออกเป็น 5 ระดับ ขึ้นอยู่กับอำนาจการทำลายล้างที่คาดว่ามันจะก่อให้เกิดขึ้นได้ และจำแนกโดยอาศัยความเร็วลมของพายุเป็นหลัก


นอกจากนั้น ในขณะที่เกิดพายุหมุน พลังลมของมันจะดึงดูดให้น้ำทะเลในบริเวณใกล้เคียงหนุนสูงขึ้นมาด้วย มากน้อยเท่าใดขึ้นอยู่กับสภาพของพื้นที่ไหล่ทวีปตามแนวชายฝั่งในบริเวณนั้น


ระดับของไซโคลนมีดังนี้


ระดับ 1 ความเร็วลม 74-95 ไมล์ต่อชั่วโมง (118-152 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) น้ำทะเลหนุนสูง 1.5 เมตร อาจก่อให้เกิดความเสียหายกับต้นไม้ ไม้พุ่ม หรือบ้านเรือนที่ไม่แข็งแรง


ระดับ 2 ความเร็วลม 96-100 ไมล์ต่อชั่วโมง (153-160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) น้ำทะเลหนุนสูง 2.5 เมตร บ้านเรือนที่ไม่มีหลักยึดที่แข็งแรงได้รับความเสียหายหนัก หลังคาบ้านเรือนส่วนใหญ่ได้รับความเสียหาย ต้นไม้โค่น


ระดับ 3 ความเร็วลม 111-130 ไมล์ต่อชั่วโมง (178-208 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) น้ำทะเลหนุนสูง 4 เมตร บ้านเรือนที่ไม่แข็งแรงเสียหายอย่างรุนแรง ต้นไม้ขนาดใหญ่โค่น อาคารขนาดเล็กที่ปลูกสร้างอย่างแข็งแรงได้รับความเสียหาย


ระดับ 4 ความเร็วลม 131-155 ไมล์ต่อชั่วโมง (209-248 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) น้ำทะเลหนุนสูง 5.5 เมตร บ้านเรือนไม่แข็งแรงเสียหายโดยสิ้นเชิง โครงสร้างที่แข็งแรงได้รับความเสียหายหนัก พื้นที่บริเวณชายฝั่งถูกน้ำทะเลท่วม


ระดับ 5 ความเร็วลม เกินกว่า 155 ไมล์ต่อชั่วโมงขึ้นไป (248 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป) น้ำทะเลหนุนสูงเกินกว่า 5.5 เมตร บ้านเรือนขนาดเล็กถูกพัดหายไปกับพายุ บ้านเรือนทุกรูปแบบได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิง พื้นที่ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลน้อยกว่า 4.5 เมตร จะถูกน้ำท่วมอย่างหนัก


นาร์กีส จัดเป็นไซโคลนระดับ 4 เท่านั้น แต่สร้างความเสียหายมหันต์ให้กับพม่า



1.รถบรรทุกครอบครัวผู้ประสบภัย อพยพออกจากเมืองเดดาเย
2.สภาพความเสียหายของหมู่บ้านริมปากแม่น้ำอิรวดี
3.ยังไม่รู้จะทำอย่างไร หลังสูญบ้าน
4.เด็กๆ ไร้บ้านอาศัยวัดในหมู่บ้านกอว์ฮมู
5.กินข้าวที่ได้รับบริจาคในเมืองฮเลียง ธายาร์
6.วัดในเมืองลาบุตตาเต็มไปด้วยชาวบ้านที่ไร้ที่อยู่
 


Cyclone Nargis


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์