คิดก่อนใช้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
ถึงตอนนี้หญิงไทยหลายคนเริ่มคุ้นหูกับ "วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก"
กันมากขึ้น หลังจากที่มันเข้ามาสู่สังคมไทยเมื่อปีที่แล้ว ด้วยการแนะนำของโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง ที่ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันในราคาที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับการตรวจภายในเพื่อค้นหามะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มแรก ที่มีบริการฟรีในระบบบริการสุขภาพที่มีอยู่แล้ว
วัคซีนที่ว่านั้นในวงการแพทย์รู้จักในชื่อ "วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV" (Human papilloma virus) แม้จะเป็นวิธีที่เหนือกว่าการตรวจภายใน เพราะเป็นการป้องกันตั้งแต่สาเหตุการเกิดโรค แต่ก็มีข้อจำกัดที่ป้องกันเฉพาะการติดเชื้อไวรัส HPV (เอชพีวี) บางสายพันธุ์
จากรายงานของ "กรองทรรศน์ อัศพัตร" ในนิตยสารฉลาดซื้อ เดือนมกราคม 2550 เรื่อง "วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ใครต้องใช้ ใครต้องจ่าย" พบว่าในช่วงสำรวจเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โรงพยาบาลเอกชน 9 แห่ง ใช้วัคซีนยี่ห้อเดียวคือ Gardasil ของบริษัทเมิร์ค หลายโรงพยาบาลละเลยข้อเท็จจริงที่สำคัญว่า วัคซีนนี้อาจใช้ไม่ได้ผลหากผู้ฉีดเคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว เนื่องจากไวรัสเอชพีวี เป็นเชื้อที่ติดผ่านการมีเพศสัมพันธ์ได้ง่ายมาก ตามสถิติกว่าร้อยละ 80 ของผู้ที่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ได้ติดเชื้อนี้ แต่ยังพบว่าโรงพยาบาลเชิญชวนให้ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์แล้วมารับการฉีดวัคซีน
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังตัดสินใจว่าจะฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนตัวนี้ดี "ฉลาดซื้อ" ให้คำแนะนำว่า
1. หากเคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว วัคซีนนี้อาจไม่มีประโยชน์กับคุณ เพราะมีโอกาสสูงมากที่จะผ่านการติดเชื้อมาแล้ว
2. หากได้รับคำชี้ชวนให้ตรวจว่ามีการติดเชื้อเอชพีวีหรือไม่ จงปฏิเสธ เพราะผลที่ได้ไม่แน่นอนพอ
3. ถ้าคุณอายุเกิน 26 ปี ผลตอบสนองจากการฉีดอาจไม่ดีเท่าคนอายุน้อย
4. ถ้าจะฉีดวัคซีนนี้ให้ลูกหลานวัยรุ่น ควรใคร่ครวญให้ดี เพราะช่วงวัยนี้คาบเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก และอาจทำให้ลูกหลานเข้าใจว่าคุณส่งสัญญาณ "ไฟเขียว" ให้แล้ว
5. ถ้าคุณสนใจฉีดวัคซีนนี้เพราะเข้าใจว่าจะไม่ต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอีกต่อไป คุณกำลังเข้าใจผิดมหันต์ เพราะวัคซีนนี้ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้เพียงร้อยละ 70
6. ถ้าได้รับข้อมูลว่าวัคซีนนี้ไม่ต้องมีการฉีดกระตุ้น แปลว่าคุณกำลังถูกหลอก เพราะขณะนี้ระยะเวลาในการป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีของวัคซีนนี้ยังไม่เป็นที่รู้แน่ เพราะ อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย
หากอยากอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับรายงานเรื่องนี้เพิ่มขึ้นติดต่อที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โทร. 0-2952-5060-2 หรือ โทร. 08-9761-9150