จำเป็นแค่ไหนที่ฉันต้องตรวจภายใน
รศ.พญ.มานี ปิยะอนันต์
หัวหน้า ภ.สูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา
อยู่ดีๆไปขึ้นขาหยั่งทำไม จำเป็นขนาดไหน ? คำถามคาใจของใครหลายคน การตรวจภายในแท้จริงแล้ว คือ การตรวจอวัยวะของระบบสืบพันธุ์ในสตรี โดย "ตรวจทางช่องคลอด" เพื่อหาความผิดปกติ อาทิ การติดเชื้อ เนื้องอก และมะเร็ง
คุณผู้หญิงส่วนใหญ่มักจะเขินอาย หรือไม่ก็กลัวไปเลย ยิ่งในรายที่ไม่เคยตรวจภายในมาก่อนไม่ต้องพูดถึง แต่ไม่ต้องห่วง เพราะการตรวจแต่ละครั้งสูติแพทย์จะปกปิดคนไข้อย่างมิดชิด เปิดเฉพาะส่วนที่จะตรวจเท่านั้น
รู้จักอวัยวะในระบบสืบพันธุ์สตรี
ประกอบด้วย (จากข้างนอกไปข้างใน)
- อวัยวะเพศภายนอก
- ช่องคลอด
- ปากมดลูก
- มดลูก
- ปีกมดลูก ซึ่งรวมรังไข่ด้วย
ธรรมชาติของการสืบพันธุ์เริ่มจาก รังไข่ของผู้หญิงสร้างไข่ จากนั้นจะเกิดการตกไข่ 1 ฟองทุกเดือน ไข่นี้ก็จะเข้ามายังท่อนำไข่แล้วหยุดคอยตัวอสุจิอยู่ตรงนี้ เมื่อมีการร่วมเพศตัวอสุจิหลายสิบล้าน หรือ เป็นร้อยล้านตัวจะถูกปล่อยออกมาตรงบริเวณปากมดลูก ตัวอสุจิจำนวนหนึ่งจะเข้า ปากมดลูก ว่ายน้ำเข้าไปในโพรงมดลูกขึ้นไปยังท่อนำไข่เพื่อหาไข่ซึ่งคอยอสุจิอยู่เพียงตัวเดียวเท่านั้นที่จะเกิดการปฎิสนธิ เป็นตัวอ่อนเคลื่อนลงมายังโพรงมดลูก เติบโตในโพรงนี่จนครบ 9 เดือนและคลอดมาชมโลกภายนอก
ดังนั้น การตรวจภายใน จึงอาศัยการดูส่วนที่มองเห็น คือ อวัยวะเพศภายนอก ช่องคลอด และปากมดลูก และอาศัยการคลำในส่วนที่มองไม่เห็น คือ มดลูก ปีกมดลูก รวมทั้งรังไข่
เริ่มตรวจ...
คุณสุภาพสตรีจะต้องนอนบนเตียงที่มีขาหยั่ง เพื่อสูติแพทย์จะดูลักษณะทั่วๆ ไป ภายนอกก่อนว่ามีผื่นแผล ติ่งเนื้อ หรือก้อนที่ผิดปกติหรือไม่ จากนั้นจะถึงขั้นตอนตรวจดูในช่องคลอด ซึ่งจำเป็นต้องสอดเครื่องมือเข้าไปในช่องคลอดเพื่อถ่างเปิดให้เห็นลักษณะภายในช่องคลอดและปากมดลูก และตรวจดูว่าตกขาวมีสี กลิ่น และปริมาณผิดปกติหรือไม่ ส่วนอวัยวะที่อยู่ลึกที่สุดเท่าที่จะเห็นได้อย่างปากมดลูกก็จะได้รับการตรวจดูว่ามีแผลอักเสบหรือมีติ่งเนื้อหรือไม่
โดยปกติ สูติแพทย์จะถือโอกาสตรวจมะเร็งปากมดลูกไปพร้อมๆกัน ซึ่งไม่ยุ่งยากและไม่เจ็บเพราะใช้เครื่องมือป้ายเอาน้ำในช่องคลอด ขูดผิวปากมดลูก และช่องภายในปากมดลูกไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง ซึ่งขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 3 - 7 วัน ก็จะรู้ผล
ส่วนการตรวจอีกขั้นตอน คือ ตรวจโดยคลำผ่านทางช่องคลอด โดยแพทย์จะสอดนิ้วในช่องคลอด ส่วนอีกมือหนึ่งจะกดท้องน้อยเพื่อหาความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์ที่เหลือซึ่งอยู่ภายในอุ้งเชิงกราน
ตรวจแล้วดีจริงเหรอ ?
แน่นอน 100 % ยิ่งถ้าคุณสุภาพสตรีมีอายุ 40 ปีขึ้นไป เพราะ
- ได้ตรวจหามะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาว ๆ ที่แต่งงานแล้วควรตรวจหามะเร็งทุกปี แต่ในรายที่พบว่ามีการอักเสบเรื้อรังที่ปากมดลูกหรือสงสัยว่าจะมีเซลล์ผิดปกติเกิดขึ้น และอาจพัฒนาไปสู่เซลล์มะเร็ง สูติแพทย์อาจจะต้องนัดมาตรวจทุก 3 - 6 เดือน แต่ไม่ต้องกังวลไปนะคะ เพราะปัจจุบัน หากพบว่าคุณเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มต้น สูติแพทย์จะสามารถรักษาให้หายขาดได้
- เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการของโรคทางนรีเวช เช่น มีตกขาวมาก มีกลิ่นเหม็น มีเลือดออกไม่ตรงกับประจำเดือน มีเลือดประจำเดือนออกนานเกิน 7 วัน คลำได้ก้อนที่อวัยวะเพศ คลำได้ก้อนในท้องน้อย หรือมีแผลที่อวัยวะเพศ
หากสูติแพทย์ซักประวัติเราควรตอบตามจริงเพื่อช่วยในการวินิจฉัยได้อย่างถูกต้องยิ่งขึ้น เพราะโรคบางอย่างมีอาการของโรคคล้าย ๆ กัน เช่น กรณีที่เลือดออกผิดปกติ อาจมีสาเหตุมาจากเยื่อบุมดลูกผิดปกติ เนื้องอกในมดลูก ช่องคลอดอักเสบ ปากมดลูกเป็นมะเร็ง หรือเกิดจาการท้องนอกมดลูก หรือแท้งบุตร ดังนั้นเมื่อสูติแพทย์ขอตรวจภายในก็ควรจะปฏิบัติตาม แม้ว่าจะยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน
สตรีที่เคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้วจะไม่เจ็บเมื่อรับการตรวจ แต่สำหรับสตรีที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์จะรู้สึกตึง ๆ หรือเจ็บบ้างเล็กน้อย แต่ที่แน่ ๆ ขนาดเครื่องมือตรวจจะมีขนาดเล็กกว่าคนที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้วแน่นอน รู้อย่างนี้หายกลัวเจ็บได้เลยค่ะ
เตรียมตัวก่อนตรวจ
1. ถ่ายอุจจาระมาก่อน สำหรับผู้ที่ท้องผูกควรกินยาระบายล่วงหน้า 2 – 3 วัน
2. ไม่ต้องโกนขน เพราะในการวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมบางโรคต้องอาศัยดูจากขนด้วย นอกจากนี้ยังทำให้เจ็บเมื่อขนขึ้นใหม่
3.ควรสวมกระโปรงเพื่อความสะดวกในการตรวจ
ที่สำคัญต้องเตรียมใจให้พร้อม คิดเสียว่าตรวจเพื่อสุขภาพ เพราะการตรวจภายในจะช่วยให้พบมะเร็งตั้งแต่เนิ่น ๆ และรับรองว่าคุณจะหายเป็นปกติแน่นอนค่ะ
ผู้หญิงนะค่ะ.คอม