วันงดสูบบุหรี่โลก
วันงดสูบบุหรี่โลกจัดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1988
โดยองค์การอนามัยโลก เนื่องจากเล็งเห็นอันตรายของบุหรี่ต่อสุขภาพ ของผู้สูบบุหรี่และผู้ไม่สูบบุหรี่แต่ได้รับควันบุหรี่ การจัดงานวันงดสูบบุหรี่โลกก็เพื่อกระตุ้นให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบ และให้รัฐบาลชุมชนและประชากรโลก ตระหนักถึงความสำคัญและเข้าร่วมกิจกรรม องค์การอนามัยโลกระบุชัดเจนว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของการป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่สามารถป้องกันได้ และกำหนดให้ วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก ( World No Tobacco Day)
ซึ่งในปีนี้ ได้กำหนดประเด็นการรณรงค์เพื่อให้ทุกภาคส่วนดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน และให้บุคลากรสาธารณสุขมีส่วนร่วมในการรณรงค์ควบคุมการบริโภคยาสูบ ภายใต้คำขวัญว่า "Health Professionals Against Tobacco" หรือ " ทีมสุขภาพร่วมใจ ขจัดภัยบุหรี่" โดยกระทรวงสาธารณสุขและเครือข่ายได้กำหนดให้ใช้ ดอกลีลาวดี เป็นสัญลักษณ์ในการรณรงค์ปีนี้
สัญลักษณ์การรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2548
สถานการณ์การสูบบุหรี่ของคนไทย
o จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ทำการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชากร ปี 2547 พบว่า
o มีผู้สูบบุหรี่ประจำ 9.6 ล้านคน โดยลดลงจากการสำรวจเมื่อปี 2544 ที่มีผู้สูบบุหรี่ประจำ 10.6 ล้านคน
o ผู้สูบบุหรี่เป็นเพศชาย 9,627,686 คน เพศหญิง 525,695 คน
o ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า 6.2 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 64ของผู้สูบบุหรี่
o ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้สูบบุหรี่มากที่สุด คือ 3.5 ล้านคน และกรุงเทพมหานครมีผู้สูบบุหรี่น้อยที่สุดคือ 858,420 คน
o การเจ็บป่วยจากการสูบบุหรี่เป็นภาระโรคอันดับที่ 2 ของคนไทย รองจากโรคเอดส์ และแอลกอฮอล์เป็นอันดับสาม
o โรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนไทยมากที่สุด คือ โรคหัวใจและโรคมะเร็ง
o ปัจจุบันคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคจากการสูบบุหรี่ปีละ 52,000 คน หรือวันละ 142 คน หรือชั่วโมงละ 6 คน
เลิกบุหรี่...วิธีไหนดีที่สุด
จากสถิติพบว่า ร้อยละ 80 ของผู้ที่เลิกสูบบุหรี่ สามารถเลิกได้ด้วยตนเองและผู้ที่เลิกได้สำเร็จส่วนใหญ่ใช้วิธีไม่สูบบุหรี่เลย ในผู้เลิกสูบโดยวิธีค่อย ๆ ลดจำนวนมวนที่สูบลงนั้น ส่วนใหญ่จะไม่สามารถเลิกสูบได้
เคล็ดลับ...ในการเลิกบุหรี่
หากคุณตัดสินใจที่จะเลิกสูบบุหรี่ให้ปฏิบัติดังนี้
- ทิ้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ให้หมด ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ ที่เขี่ยบุหรี่ และไฟแช็ค
- ตั้งสติให้มั่น เข้มแข็งเมื่อมีอาการหงุดหงิด
- ตัดความเคยชิน หรือกิจกรรมต่างๆ ที่มักจะทำร่วมกับการสูบบุหรี่ เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- คุมอาหารด้วยการเลือกรับประทานอาหารจำพวกผักผลไม้ให้มากกว่าเดิม
- จดจำเหตุผลที่คุณตัดสินใจเลิกบุหรี่ไว้ให้ขึ้นใจ เพื่อเป็นกำลังใจเวลาท้อ
- เตือนตนเองอยู่เสมอว่า "คุณไม่สูบบุหรี่แล้ว"